In Bangkok

กทม.มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมคัดแยกขยะ จากแหล่งกำเนิดลดขยะตั้งแต่ต้นทาง 



กรุงเทพฯ-(14 มี.ค. 66) นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบออนไลน์ 

ในที่ประชุมฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดการขยะที่ต้นทางตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นโยบาย “สร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร” เริ่มจากการพัฒนาระบบจัดการขยะครบวงจรในพื้นที่เขตนำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเก็บขยะเศษอาหารแยกจากขยะทั่วไป ด้วยโครงการ “ไม่เทรวม” โดยผู้ที่แยกขยะเศษอาหารและทิ้งกับรถเก็บขยะในพื้นที่นำร่องส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ ซึ่งมีเศษอาหารปริมาณจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ร้านขายผลไม้ ขยายผลไปยัง 50 เขต โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงทะเบียนทิ้งขยะเศษอาหารผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดเก็บขยะเศษอาหารได้เฉลี่ย 46.34 ตันต่อวัน จาก 430 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2566 ระดับที่ 2 การส่งเสริมแหล่งกำเนิดขยะ ลดและคัดแยกขยะใช้ประโยชน์ที่ต้นทาง โดยการคัดแยกขยะเศษอาหารเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสัตว์ หรือส่งให้กับเขตรวบรวม โดยขยะรีไซเคิลจะถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ และขยะที่เหลือ ได้แก่ ขยะอันตรายและขยะทั่วไปจะถูกส่งกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป สำหรับโครงการ “BKK Zero waste” ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ “ไม่เทรวม” ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดประชุมทำความเข้าใจกับผู้แทนชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ วัดและศาสนสถาน ในพื้นที่เขตนำร่องเพื่อดำเนินการจัดการระบบคัดแยกขยะมาใช้ประโยชน์ และมีการเปิดโครงการฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 และระดับที่ 3 การส่งเสริมหน่วยงาน สถานประกอบการที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นประจำ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สำนักงานเขต สถานีบริการน้ำมัน ติดตั้งจุดรับขยะแยกประเภท (Drop off point) เพื่อเป็นจุดรับขยะรีไซเคิล ปัจจุบันได้ติดตั้งจุดรับพลาสติก 5 ประเภท ได้แก่ พลาสติก PET พลาสติกขุ่น พลาสติกยืด กล่องเครื่องดื่ม และพลาสติกอื่น ๆ ที่แห้งและสะอาด บริเวณสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รวม 53 จุด และจุดรับขวดพลาสติก PET ในสวนสาธารณะอีก 27 แห่ง จำนวน 40 จุด โดยอยู่ระหว่างการประสานขอความร่วมมือจากสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ เพื่อขยายผลติดตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลเพิ่มเติม

สำหรับนโยบาย “มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า” มุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชน องค์กร สถานประกอบการ ลดและคัดแยกขยะมุ่งผลสำเร็จตามหลักการของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste) ซึ่งสำนักงานเขตได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดมาใช้ประโยชน์ โดยแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิด 6 ประเภท ได้แก่ ชุมชน สถานศึกษา อาคาร ตลาด วัดและศาสนสถาน และงานกิจกรรมหรือเทศกาลในพื้นที่เขต จำนวน 998 แห่ง สำหรับเป้าหมายในปี 2566 จะเพิ่มประเภทแหล่งกำเนิดเป็น 16 ประเภท ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัดและศาสนสถาน ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานบริการน้ำมัน โรงแรม ธนาคาร สถานพยาบาล สวนสาธารณะ หน่วยงานสังกัดกทม. ซุปเปอร์มาเก็ต/มินิมาร์ท ร้านอาหาร สำนักงานโรงงาน แฟลตหรือคอนโดมิเนียม งานกิจกรรมหรือเทศกาล จำนวน 9,372 แห่ง นอกจากนี้ด้านนโยบาย “ส่งขยะคืนสู่ระบบ” มุ่งเน้นการแยกขยะที่มีประโยชน์กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยมีการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ขยะเศษอาหารและกิ่งไม้ใบไม้ ดำเนินการตามโครงการ “ไม่เทรวม” ขยะรีไซเคิล ดำเนินการผ่านโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” ตามภารกิจ “แยกเพื่อให้...พี่ไม้กวาด” ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by PTTGC และ Z-Safe เพื่อช่วยเหลือพนักงานกวาดถนน ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขต ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภาคีอุตสาหกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) นักวิจัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม