In News

เคาะแผนจัดการในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานปี2566-70



กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 มุ่งคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมสารเคมีที่เกิดจากการเผาขยะ การเผาในที่โล่ง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มีนาคม2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกต่อไป

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยการลด และ/หรือ เลิกการผลิต การใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ ตกค้างยาวนาน สามารถสะสมในสิ่งมีชีวิต ห่วงโซ่อาหาร และสิ่งแวดล้อมได้มาก และสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม โดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา

ร่างแผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแผนหลักของประเทศในการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานให้ครอบคลุมสาร POPs ชนิดใหม่ 19 รายการ ให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ

2. เป้าหมาย เพื่อลด และ/หรือ เลิกการผลิต การใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

3. ประเภทสารเคมีที่ต้องได้รับการติดตาม ควบคุม ตามแผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับที่ 2  ได้แก่ สาร POPs ชนิดใหม่ 19 รายการ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เช่น สารไดโคฟอล (Dicofol) 2.สารเคมีอุตสาหกรรม เช่น สารพีฟอสเอฟ (PFOS) ที่ใช้ในการดับเพลิงและเคลือบกระทะ และ 3.สารเคมีที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจ เช่น สารเคมีที่เกิดจากการเผาขยะ การเผาในที่โล่ง กระบวนการผลิตโลหะ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสารเคมีที่อยู่ภายใต้แผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับแรกอีก 2 สารที่ยังคงต้องติดตาม ควบคุมการใช้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สารไดออกซิน/ฟิวแรน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจที่เกิดจาก การเผาขยะ และการเผาในที่โล่งเป็นส่วนใหญ่

4. แผนปฏิบัติการ (Action Plans) ภายใต้แผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วย 16 แผนกิจกรรม ที่จะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566-2570 โดยได้กำหนดเป้าหมาย กิจกรรม ตัวชี้วัด หน่วยงานดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ งบฯ และแหล่งเงิน ซึ่งมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน 37 หน่วยงานร่วมดำเนินการ

“ตัวอย่างกิจกรรมที่สำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการฯ เช่น 1.การออกประกาศควบคุมสาร POPs ชนิดใหม่ให้เป็นวัตถุอันตราย ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และการพิจารณายกระดับการควบคุมและ/หรือกาหนดเงื่อนไขจำกัดการใช้สาร POPs ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตภายใต้อนุสัญญาฯ  2.การปรับปรุงกฎระเบียบให้มีการรายงานข้อมูลการใช้สารพีฟอส (PFOS) รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีในการกำจัดซากเคมีภัณฑ์ที่มีสาร PFOS 3.ศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับลดและจัดการสารเคมีที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจ เช่น ไดออกซินและฟิวแรน จากแหล่งกำเนิดประเภทอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ และ 4.ออกมาตรการจูงใจให้ผู้บริโภคและภาคเอกชนหันมาสนับสนุนสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดการเผาในที่โล่งและ/หรือมาตรการทางการเงินแก่เกษตรกร” น.ส.ทิพานัน กล่าว