In News
คลังแจงประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี66 เผย7รูปแบบและการคุ้มครอง
ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่14 มี.ค.2566 ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (โครงการฯ) ปีการผลิต 2566 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2566 มีรูปแบบและความคุ้มครอง ดังนี้
1. ผู้รับประกันภัย บริษัทเอกชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566 ตามกรมธรรม์
2. ผู้เอาประกัน เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปรับปรุงทะเบียนในปีการผลิต 2566
3. พื้นที่รับประกันภัย ดังนี้ การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 2.06 ล้านไร่ การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) ไม่เกิน 6 หมื่นไร่ รวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.12 ล้านไร่
4. อัตราค่าเบี้ยประกันภัย จำแนกเป็น การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) แบ่งเป็น 4 อัตรา (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ (1) เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 160 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ (2) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ (3) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง 350 บาทต่อไร่ และ (4) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) แบ่งเป็น 3 อัตรา (เกษตรกรจ่ายเอง พร้อมทั้งอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ (1) พื้นที่เสี่ยงต่ำ 90 บาทต่อไร่ (2) พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และ (3) พื้นที่เสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่
5. การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 64 บาทต่อไร่ (สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย) สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566 ของ ธ.ก.ส. และรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. และ 90 บาทต่อไร่ พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ ให้แก่เกษตรกรทั่วไป ทั้งนี้ การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวเป็นการอุดหนุนเฉพาะการประกันภัยในส่วนที่ 1 (Tier 1) เท่านั้น
6. วงเงินคุ้มครอง จำแนกเป็นวงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม หรือฝนตกหนัก, ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง, ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น, ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง, ลูกเห็บ, ไฟไหม้ และช้างป่า สำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 1,500 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 1,740 บาทต่อไร่ และวงเงินคุ้มครองภัยศัตรูพืชและโรคระบาด การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 750 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 870 บาทต่อไร่
7. ระยะเวลาการจำหน่ายกรมธรรม์ กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. จนถึงไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2567 ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา