In News

อนุมัติโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ถูกไล่รื้อกว่า2.7หมื่นครัวเรือน



กรุงเทพฯ-​ครม.เห็นชอบโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ช่วยผู้มีรายได้น้อยที่ถูกไล่รื้อกว่า 2.7 หมื่นครัวเรือน

วันที่ 15 มีนาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ว่า  ครม.เห็นชอบหลักการโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง วงเงิน 7,718.94 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 -2570 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อรองรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง 2) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย และ 3)เพื่อพัฒนาการจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ฐานะยากจน ไม่มีเงินออม และถูกไล่รื้อหรือต้องรื้อย้ายเพื่อเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้างระบบราง ในพื้นที่ 35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน สำหรับรูปแบบการพัฒนามีแนวทาง ดังนี้ 1) สร้างความมั่นคงในที่ดิน โดยทำสัญญาเช่าระยะยาวในที่ดินเดิมหรือที่ดินใหม่กับเจ้าของที่ดิน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ ภาคเอกชน หรือการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างชุมชนใหม่นอกพื้นที่ชุมชนเดิม 2)พัฒนาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น อาคารชุด บ้านเดี่ยว ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชน 3)พัฒนาความมั่นคงของชุมชนด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีแผนงานในการพัฒนาทั้งด้านสังคม อาชีพ การอยู่ร่วมกัน การจัดการด้านการเงิน และการจัดระบบสวัสดิการดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

สำหรับงบประมาณโครงการ 7,718.94 ล้านบาท จะใช้เป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้ 1) งบสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค อุดหนุนที่อยู่อาศัยเฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท เพื่อใช้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็นของชุมชน 2)งบสนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบเฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราวหรือเช่าบ้านหอพักระหว่างการรอปลูกสร้างบ้านถาวร การรื้อถอน ขนย้ายสิ่งของอุปกรณ์ระหว่างรอที่อยู่อาศัยมายังที่อยู่อาศัยชั่วคราว ค่าขนส่งวัสดุ และการย้ายเข้าในที่อยู่อาศัยที่พัฒนาใหม่ และ 3)งบสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสาหรับสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ซื้อที่ดินใหม่พร้อมสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เฉลี่ยไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท ส่วนแหล่งที่มาของบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะใช้จ่ายจากเงินทุนหมุนเวียนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ปีงบประมาณ 2567 -2570  จะเสนอขอรับการอุดหนุนจากงบประมาณประจำปี ร้อยละ 50  และเงินทุนหมุนเวียนของ พอช. ร้อยละ 50 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ มีความมั่นคงในชีวิตและที่อยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาชุมชนแออัดและสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ของเมืองและชุมชนได้ อีกทั้ง ยังเป็นการลดผลกระทบและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย และเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ” เป็นสถานะ “ผู้อยู่อาศัยในชุมชน” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย