In Bangkok
ขสมก.ร่วมกทม.ลดต้นตอฝุ่นตรวจควันดำ ก่อนให้บริการทุกวันหากพบสั่งงดวิ่ง

กรุงเทพฯ-นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นำคณะสื่อมวลชนนั่งรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder จากโรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดงไปยังอู่รถเมล์พระราม 9 บริเวณถนนวัฒนธรรม เขตห้วยขวาง เพื่อติดตามการตรวจวัดควันดำท่อไอเสียรถเมล์ และกำชับ ขสมก. ให้หมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์และตรวจวัดค่าควันดำเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้รถโดยสารปล่อยมลพิษขณะนำมาใช้งานบนท้องถนน โดยอู่แห่งนี้มีรถประจำทางจำนวน 85 คัน เป็นรถโดยสารเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล บี 20 จำนวน 64 คัน รถโดยสาร เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 21 คัน
ในการนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ดร.ไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง นายสนั่น จำปา หัวหน้าฝ่ายเปรียบเทียบปรับ กองตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก นางมยุรี บัณฑิตไทย กลุ่มปฏิบัติการเดินรถที่ 3 เขตการเดินรถที่ 4 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล
ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า กรุงเทพมหานครส่งเสริมให้ประชาชนเป็น Active Citizen มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสปัญหาต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเป็นนักสืบฝุ่นได้ โดยหากพบเห็นรถเมล์หรือรถบรรทุกต่าง ๆ ควันดำ หรือต้นตอมลพิษต่าง ๆ สามารถถ่ายรูปแล้วแจ้งเบาะแสส่งมาทาง Traffy Fondue ได้เลย ทางเราจะส่งต่อไปให้ทาง ขสมก. ซึ่งมีหน่วยงานรับเรื่องและดำเนินการแก้ไขด้วยการซ่อมแซมหรือทำความสะอาดเครื่องยนต์ หลังจากนั้นทาง ขสมก. ก็จะส่งรูปการดำเนินการที่แล้วเสร็จกลับมา
“โอกาสนี้ กทม. ต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณ ขสมก. ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนเป็นอย่างดีในการร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นที่ต้นตอ เพื่อลดปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน” นายพรพรหม กล่าวทิ้งท้าย
ผอ.เขตห้วยขวาง กล่าวว่า สำหรับสำนักงานเขต ได้ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หนึ่งในนั้นก็คือควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ อาทิ อู่ขนาดใหญ่ โดยต้องมีการตรวจวัดควันดำ โดยเรากำหนดมาตรการ ถ้าเกิดไม่ทำตาม โดยอำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ทางอู่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีการตรวจสม่ำเสมอ
ผู้แทน ขสมก. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของความร่วมมือการทำงานระหว่าง กทม. กับ ขสมก. นั้น ทางกทม.ได้มาตรวจอย่างต่อเนื่องในเรื่องของมลพิษ ดังนั้นก็จะไม่มีปัญหาเท่าไร เราทำตามกทม.อยู่แล้ว โดยนโยบายที่รับมาจาก กทม. นั้น เราจะต้องตรวจรถทุกคันก่อนนำรถออกให้บริการ ซึ่งเราได้มีการตรวจทุกวันทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย หากเกิดค่าควันดำเกินมาตรฐานหรือใกล้เคียงมาตรฐาน คือมีค่าความทึบแสง (ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ) อยู่ที่ 25% เราจะไม่ให้นำรถออกวิ่งโดยเด็ดขาด ฉะนั้น การันตีได้ว่ารถที่ออกไปต้องไม่มีควันดำ
สำหรับเครื่องมือตรวจวัดควันดำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 ระบบ คือ 1. ระบบความทึบแสง (ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ) ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 30% และ 2. ระบบกระดาษกรอง (ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ) ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 40% โดยการตรวจวัดจะดำเนินการ 2 ครั้ง โดยใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้าค่าควันดำที่ตรวจวัดได้ทั้ง 2 ครั้ง แตกต่างกันเกินร้อยละ 5 ให้ยกเลิกการตรวจวัดทั้ง 2 ครั้ง และดำเนินการตรวจวัดค่าควันดำใหม่ จนกว่าค่าควันดำที่วัดได้ทั้ง 2 ครั้ง จะแตกต่างกันไม่เกินร้อยละ 5 กรณีที่ตรวจวัดซ้ำหลายครั้งแล้วค่าควันดำยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และความแตกต่างระหว่างค่าครั้งที่ 1 และค่าครั้งที่ 2 แตกต่างกันเกินร้อยละ 5 ให้ถือว่ารถคันนั้นมีค่าควันดำเกินมาตรฐาน ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ระบบกระดาษกรองจะใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
——————————