In Global
ดาต้าเซ็ตชูแพลตฟอร์มDXT360&EVO เป็นเครื่องมือช่วยธุรกิจสร้างแบรนด์
ดาต้าเซ็ตชี้การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อทำให้เกิดความท้าทายและโอกาสสำหรับแบรนด์และธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ สื่อสาร และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้แพลตฟอร์มมีเดียอินเทลลิเจนซ์เป็นตัวช่วยในการกรองข้อมูลจำนวนมหาศาลจากสื่อ 360 องศา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและนำมาใช้งานได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งใช้กรอบแนวคิด EVO (Experience-Values-Offer) เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพการสื่อสารของแบรนด์
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด จัดงานสัมมนา “Next Gen Media Intelligence: The New Era of Data-fed, Insight-led Brand Building” โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ.ดร. สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโรเบิร์ต เคบัส (Robert Kabus) ประธานเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนผู้จัดการ (Chief Strategy Officer and Managing Partner) ดาต้าเซ็ต พีทีอี จำกัด นางสาวศวิตา เภกะนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด และนางสาวนวลนิสสา อุบลพงษ์ ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด เข้าร่วมแบ่งปันมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่ส่งผลต่อแบรนด์และองค์กร การเจาะลึกถึงเครื่องมือด้านมีเดียอินเทลลิเจนซ์และข้อมูลเชิงลึกที่มีส่วนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการสื่อสาร รวมทั้งกระบวนการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของแบรนด์และธุรกิจ งานสัมมนานี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท และมีผู้เข้าร่วมงานจากบริษัทและองค์กรชั้นนำต่าง ๆ กว่า 100 ราย
คุณพรรณี ยงปิยะกุล กรรมการผู้จัดการ dataxet:infoquest (ลำดับที่ 3 จากทางซ้าย) ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับคณะวิทยากร
โดยภายในงาน รศ.ดร. สมิทธิ์ บุญชุติมา ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่มีต่อการติดตามแบรนด์ในยุค “เศรษฐศาสตร์แห่งความสนใจ” (Attention Economy) ว่า การเข้ามาของสื่อใหม่อย่างสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเพิ่มเติมจากสื่อเดิมที่ก็ยังคงอยู่ทำให้จำนวนข้อมูลข่าวสารที่ส่งไปยังผู้บริโภคมีมากมายมหาศาล ในขณะที่ “ความสนใจ” จากผู้บริโภคยังคงเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ดังนั้นแบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องแข่งขันกันเพื่อดึงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด การจะทำสิ่งนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัย “มีเดียอินเทลลิเจนซ์” หรือ “ข่าวกรองด้านสื่อ” เพื่อช่วยในการวางแผนการสื่อสาร
Data-fed, Insight-led: เปลี่ยนบิ๊กดาต้าให้เป็นข้อมูลเชิงลึก เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การสื่อสารของแบรนด์
นายโรเบิร์ต เคบัส (Robert Kabus) ประธานเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนผู้จัดการ (Chief Strategy Officer and Managing Partner) ดาต้าเซ็ต พีทีอี จำกัด และนางสาวศวิตา เภกะนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด กล่าวว่า ในยุคที่ผู้คนใช้เวลาอย่างมากมายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ความท้าทายของทุกแบรนด์คือการแย่งชิงความสนใจจากผู้บริโภค
การใช้แพลตฟอร์มมีเดียอินเทลลิเจนซ์ เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เราคัดกรองให้ได้ข้อมูลล่าสุดที่เกี่ยวข้อง และมีความสำคัญ มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่เท่าทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ความท้าทายลำดับถัดไปคือการที่เรานำข้อมูลเหล่านี้มาช่วยขับเคลื่อนแคมเปญสื่อสารทางการตลาด และกำหนดแผนปฎิบัติเชิงกลยุทธ์เพื่อประสิทธิผลที่ดีขึ้น
นายโรเบิร์ต เคบัส ขณะบรรยายบนเวที
นายโรเบิร์ต และนางสาวศวิตา กล่าวว่า แพลตฟอร์ม DXT360 จะช่วยย่อยบิ๊กดาต้าให้เป็นแดชบอร์ดที่ใช้งานสะดวก เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่สร้างคุณค่า และสามารถนำเสนอข้อมูลทั้งจากสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ในที่เดียวกัน โดยสามารถคัดกรองและปรับแต่งการแสดงผลลัพธ์ให้ตรงตามความต้องการและเป้าหมายของผู้ใช้งานแต่ละราย
นอกจากนี้นายโรเบิร์ตและนางสาวศวิตา ยังได้เสนอกรอบความคิด EVO (Experience-Values-Offer) ซึ่งเป็นเครื่องมือเฉพาะของกลุ่มดาต้าเซ็ตที่จะใช้วิเคราะห์การสื่อสารของแบรนด์และเป็นตัวช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ และวัดประสิทธิผลการสื่อสารของแบรนด์ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์ของลูกค้า (Experience) คุณค่าของแบรนด์ (Values) และข้อเสนอของแบรนด์ (Offer) สิ่งที่ได้จากกรอบความคิด EVO จะทำให้แบรนด์สามารถนำมากำหนดแผนปฏิบัติเพื่อต่อยอดการสื่อสารในระดับต่าง ๆ ในการออกแคมเปญได้เป็นอย่างดี
บรรยากาศระหว่างการสัมมนา
ในช่วงท้ายของการสัมมนา วิทยากรทุกท่านได้แบ่งปันความคิดเห็นร่วมกัน โดยนางสาวนวลนิสสา อุบลพงษ์ ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ได้เล่าประสบการณ์จริงในการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มมีเดียอินเทลลิเจนซ์ของ dataxet:infoquest ซึ่งช่วยตอบโจทย์การทำงานทั้งในด้านการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ รวมถึงการแจ้งเตือนเมื่อเกิดประเด็นที่สำคัญ ๆ และการติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งได้เป็นอย่างดี