In Bangkok
คกก.พิจารณางบเพิ่มเติมปี66ใช้งบคุ้มค่า ใน3สำนัก 'อนามัย-การแพทย์-การโยธา'

กรุงเทพฯ-(21 มี.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. ... เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระดับสำนัก ประกอบด้วย สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และสำนักการโยธา โดยมี คณะกรรมการวิสามัญฯ ประธานคณะอนุกรรมการ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นการใช้จ่ายงบประมาณ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2
นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารสำนักอนามัย (สนอ.) และสำนักการแพทย์ (สนพ.) ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นเงินรวม 328,215,900 บาท เพื่อขอจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และปรับปรุงอาคาร โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ หลายท่านได้แจ้งถึงปัญหาที่พบในการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ของสำนักอนามัย โดยเฉพาะบริการทำหมันสุนัขและแมวซึ่งการออกหน่วยแต่ละครั้งสามารถให้บริการได้เพียงวันละ 30 ตัว เท่านั้น แต่เมื่อประชาชนในพื้นที่นำสัตว์เลี้ยงมารับบริการพบว่าคิวเต็มและมีการรับจองคิวล่วงหน้ามาแล้วและเป็นคนนอกพื้นที่ให้บริการ บางเขตพบว่ามีผู้รับจ้างจองคิวอีกด้วย ทำให้ไม่สามารถรับบริการได้ทั้งที่มีการเตรียมตัวอดอาหารและน้ำดื่มกับสัตว์เลี้ยงไปแล้ว ทั้งนี้ นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ได้รับทราบปัญหาที่คณะกรรมการแจ้งและรับไปหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการให้บริการต่อไป
นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งคำถามเรื่องบริการ MRI หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันทราบว่าสำนักการแพทย์ดำเนินการจ้างสถานพยาบาลเอกชนให้บริการแทน (outsource) โดยการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลเอกชนและนำผลตรวจมาดำเนินการรักษาต่อที่โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร สำนักการแพทย์ชี้แจงว่า การจ้างสถานพยาบาลเอกชนคุ้มค่ากว่าจัดซื้อเครื่อง MRI และให้บริการเอง ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการรับบริการยังมีจำนวนไม่มาก ประกอบกับบุคลากร (นักรังสีการแพทย์) มีจำนวนจำกัด จึงไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่การจ้างสถานพยาบาลเอกชนเมื่อคำนวนต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อครั้งคุ้มค่ากว่าการจัดซื้อเครื่องและให้บริการเอง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในอนาคต เช่น การบำรุงรักษา การอัปเกรดระบบของเครื่อง และค่าจ้างบุคลากร จึงใช้วิธีส่งตัวผู้ป่วยโดยมีใบสั่งตรวจจากแพทย์ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีใบสั่งตรวจสามารถไปรับบริการและเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ที่ตนมี
นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารสำนักการโยธา (สนย.) ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการวิสามัญ ซึ่งสนย.ได้ของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมเป็นเงิน 2,585,820,100 บาท และคณะอนุกรรมการ ได้ปรับลดงบประมาณโครงการปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าถนนเยาวราช ช่วงจากวงเวียนโอเดียนถึงคลองโอ่งอ่าง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 13,307,000 บาท คงเหลือ 2,572,513,100 บาท โดยคณะอนุกรรมการได้ขอตัดเนื้องานการติดตั้งเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์ ตามแบบและรายการ จำนวน 98 ต้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการได้ให้ข้อสังเกตเมื่อครั้งลงพื้นที่พิจารณาความเหมาะสมการขอจัดสรรงบประมาณ โดยเห็นว่าถ้ามีเสาไฟฟ้าบนทางเท้าจะทำให้ทางเท้าแคบลง ประชาชนเดินไม่สะดวก ประกอบกับถนนเส้นนี้มีไฟฟ้าส่องสว่างจากถนนสาธารณะส่องสว่างทั่วถึงแล้ว จึงขอปรับลดเนื้องานในส่วนนี้ออก
นอกจากนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ให้ข้อเสนอแนะในการกระจายงบประมาณเรื่องการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าส่องสว่างจากหลอดจากเดิมที่เป็นหลอดแสงจันทร์ หรือหลอดเอชพีเอส (High Pressure Sodium) เป็นหลอด LED ตามนโนบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตพื้นที่สามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ต้องรอส่วนกลาง เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ หากสนย. ดำเนินการเองทั้งหมดอาจล่าช้า สำนักงบประมาณได้ชี้แจงว่า ขณะนี้เป็นเพียงการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนทดแทนหลอดเดิมที่ชำรุดใช้การไม่ได้ดำเนินการควบคู่กับการไฟฟ้านครหลวง และอาจจะมีบางพื้นที่ บางซอย ที่สนย.ได้รับการร้องเรียนและพิจารณาแล้วว่าในซอยนั้นมีหลอดชำรุดไฟดับเป็นจำนวนหลายดวง จึงดำเนินการเปลี่ยนเป็นหลอด LED หมดทั้งซอย ซึ่งในปีงบประมาณถัดไปจะมีการขอจัดสรรงบเพื่อจัดซื้อหลอด LED เพื่อเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างเป็นหลอด LED สำนักงบประมาณจะนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเรียนฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณา ในการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในคราวต่อไป