In News
จนท.รัฐฯของญี่ปุ่นดอดพบปลัดคมนาคม สนใจลงทุนพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ
กรุงเทพฯ-ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ Mr. KIKUCHI Masahiko รองอธิบดีสำนักเมือง กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นพร้อมด้วย Ms. SAYA Setsuko รองประธานกรรมการบริหารองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น เข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานการศึกษาการพัฒนาพื้นที่บริเวณบางซื่อ
สืบเนื่องจากการที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปประชุมหารือทวิภาคีรัฐมนตรีด้านคมนาคมขนส่ง ระหว่างไทย - ญี่ปุ่น พร้อมกับหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางร่วมกับหน่วยงานด้านการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระหว่างวันที่ 6 - 11 ธันวาคม 2565 ณ ประเทศญี่ปุ่น และได้มีนโยบายที่จะเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟให้เป็นแบบTransit oriented Development, TOD เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ Mr. KIKUCHI Masahiko รองอธิบดีสำนักเมือง กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (City Bureau, MLIT) พร้อมด้วย Ms. SAYA Setsuko รองประธานกรรมการบริหารองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) เข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานการศึกษาการพัฒนาพื้นที่บริเวณบางซื่อ โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล คณะกรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และนายประภัทรเผ่า อาวะกุล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมหารือ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ณ กระทรวงคมนาคม
Mr. KIKUCHI Masahiko รองอธิบดีสำนักเมือง กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น พร้อมด้วย Ms. SAYA Setsuko รองประธานกรรมการบริหารองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น ได้เดินทางมาประเทศไทยและขอเข้าพบปลัดกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่บริเวณบางซื่อ พื้นที่นำร่องในโซน E และโซน A และหารือทิศทางการดำเนินการร่วมกันในระยะถัดไป โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) การสร้างโอกาสในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งทางเท้าที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และการสร้างความโดดเด่นให้กับพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้จากประชาชนในระยะแรกเริ่มของการพัฒนา และ 2) การดึงดูดนักลงทุน อาทิ ทิศทางการพัฒนาที่ดินที่สอดคล้องกันในแต่ละโซน และการกำหนดให้มีสถานที่ราชการในบริเวณพื้นที่ และระยะเวลาการเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นต้น