In Thailand

แถลงข่าวยกผักตบเพิ่มมูลค่าเป็นปุ๋ยชีวภาพสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น



สุราษฎร์ธานี-ณ พื้นที่แหล่งเรียนรู้ประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์บึงขุนทะเล มรภ.สุราษฎร์ธานี-เทศบาลตำบลขุนทะเล แถลงข่าวยกผักตบเพิ่มมูลค่าเป็นปุ๋ยชีวภาพสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น

วันที่ 23 มีนาคม 2566 ณ พื้นที่แหล่งเรียนรู้ประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์บึงขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. พร้อมด้วย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์และเครือข่ายสังคม ให้การแถลงข่าวความร่วมมือการจัดการขยะอินทรีย์

ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีกับเทศบาลตำบลขุนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ นายทัพชนะ มะลิเผือก นายกเทศมนตรีตำบลขุนทะเล และMr. Renaud Meyer, Resident Representative, United Nations Development Programme (UNDP) (ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย) ในการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ในพื้นที่ตำบลขุนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำมาผลิตก๊าซชีวภาพและปุ๋ยหมัก ยกผักตบเพิ่มมูลค่าเป็นปุ๋ยชีวภาพ สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น

โดยการบริหารจัดการขยะอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ : สถานีที่ตอบสนองต่อ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG Station)” ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจาก คาร์กิล ประเทศไทย จำกัด และ ธนาคารออมสิน จนถึงปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในการดำเนินงานจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย โดยมี เป้าหมายหลักที่จะนำพามหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขยะเป็นศูนย์ “Zero Waste” และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริม ความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และการจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายใน มหาวิทยาลัยฯ อย่างยั่งยืน ผ่านการฝึกอบรมบุคลากร กิจกรรม ขยะรีไซเคิลลุ้นโชค และก่อสร้างสถานีจัดการขยะอินทรีย์ ได้แก่ เครื่องผลิตก๊าซชีวภาพ การผลิตสารปรับปรุงดินจากมูลไส้เดือน เพื่อสร้างรายได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันการดำเนินงานสำเร็จไปได้ ส่วนหนึ่งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาเทศบาลตำบลขุนทะเล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการจัดการขยะที่มาจากผักตบชวา ในพื้นที่สวนสาธารณะบึงขุนทะเล ที่มีปริมาณมากจนบดบังทัศนียภาพที่สวยงาม และสร้างอุปสรรคด้านการใช้ยานพาหนะทางน้ำสำหรับสัญจรของผู้ที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนี้ ประกอบกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มีแนวทางการจัดการขยะ ด้วยการหมักปุ๋ยจากผักตบชวาในวงตาข่าย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินโครงการการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อการตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ สามารถช่วยลดคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตพลังงานสะอาด และการสร้างศูนย์เรียนรู้สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาดูงานจากหน่วยงานภายนอก รวมทั้งความร่วมมือกับองค์การปกครองในท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการบริการวิชาการและร่วมกันบริหารจัดการขยะชุมชนแบบยั่งยืน

การผลิตก๊าซชีวภาพด้วยเครื่องหมักแบบไร้อากาศแบบแห้งที่ทำงานต่อเนื่อง โดยเศษพืช ขยะอินทรีย์ และของเสียต่าง ๆ จะถูกนำมาเข้าเครื่อง ให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพที่ได้จะส่งต่อไปใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนการสอนให้กับหลักสูตรธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ และการต่อยอดในอนาคตด้วยการบรรจุก๊าซชีวภาพที่ได้ใส่ถังแก๊สเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้งาน รวมถึงการรับขยะอินทรีย์ในพื้นที่เทศบาลตำบลขุนทะเลเพื่อส่งเสริมให้ทางครัวเรือนมีการคัดแยกขยะอินทรีย์และรวบรวมโดยเทศบาล ทำให้ปริมาณขยะในพื้นที่ลดลง ทั้งนี้ในโครงการดังกล่าวจะนำก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยหมักที่ได้ไปใช้ประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัย อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมพร้อมยังเป็นการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยจะคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตต่อไป