Travel Sport & Soft Power

ชวมชิม! งานวันมะม่วงและของดีแปดริ้ว ช่วง31มี.ค.-9เม.ย.2566ที่รร.วัดโสธรฯ



ฉะเชิงเทรา-กินมะม่วงให้อร่อย เกษตรกรแนะวิธีเลือกช่วงเวลาหม่ำ ก่อนจัดงานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ที่ชาวสวนพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อระบายผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เผยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 52 รวม 10 วัน ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-9 เม.ย.66 นี้ ขณะภายในงานยังมีการจำหน่ายอาหารสินค้าโอทอป และสินค้าเกษตรอีกจำนวนมาก ที่โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร กลางตัวเมือง จ.ฉะเชิงเทรา

วันที่ 25 มี.ค.65 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกษตรกรชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกมาแนะนำถึงวิธีการเลือกซื้อผลผลิต และวิธีการเลือกช่วงเวลาในการบริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ให้อร่อยถูกใจตามความชื่นชอบของผู้บริโภค ก่อนที่จะถึงช่วงเวลาของการจัดงานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. – 9 เม.ย.66 ภายในโรงเรียนวัดโสธรฯ ฝั่งตรงข้ามหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า

ภายในงานทางสมาชิกสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา ได้เตรียมนำผลผลิตเข้ามาวางจำหน่าย โดยผลผลิตที่ได้ถูกบรรจุลงในกล่องเพื่อจำหน่ายเป็นของฝากนั้น สมาชิกได้มีการติดสติ๊กเกอร์บ่งชี้เพื่อตรวจสอบไปยังสถานที่ผลิตแบบย้อนกลับได้ ผ่านทางคิวอาร์โค้ด นอกจากนี้ยังมีสติ๊กเกอร์แถบสีสำหรับเปรียบเทียบระดับความสุกงอมของผลมะม่วงที่ติดอยู่บนผลผลิตได้ 

โดยมีวิธีสังเกตหรือวัดเปรียบเทียบจากระดับสีของผลมะม่วง หลังจากมะม่วงที่เพิ่งถูกเก็บเกี่ยวออกมาจากสวนใหม่ๆ นั้น จะมีสีผิวของเปลือกผลค่อนข้างอ่อนซีด หรือเห็นเป็นสีเหลืองอ่อน แต่เป็นมะม่วงแก่ที่ยังไม่สุก จากนั้นเมื่อมะม่วงเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อน เป็นสีที่มีความเข้มข้นสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง หรือประมาณ 4 วันหลังจากเก็บผลออกมาจากต้น จะกลายเป็นสีเหลืองที่เสมอกันกับสีของสติ๊กเกอร์ที่นำมาติดไว้ในแถบสีเหลืองส่วนแรก

ถือว่าเป็นผลมะม่วงสุกแล้วและพร้อมจะรับประทานได้ โดยจะให้รสชาติที่มีความหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย และเนื้อส่วนนอกใกล้กับผิวเปลือก จะมีความกรอบอยู่ในตัวเล็กน้อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำหรับผู้บริโภคที่ชื่นชอบการรับประทานมะม่วงที่มีเนื้อหวานกรอบนั่นเอง แต่สำหรับผู้บริโภคที่ชอบรับประทานเนื้อของผลมะม่วงน้ำดอกไม้แบบหวานฉ่ำนั้น ควรที่จะรอเวลาจากนี้ไปอีกประมาณ 2-3 วัน 

จนสีของผิวเปลือกผลมะม่วง เริ่มเป็นสีเหลืองที่เข้มข้น จนมีระดับเสมอกันกับแถบของสติ๊กเกอร์ในแถบที่ 2 ที่เป็นสีเหลิองแก่ โดยผลมะม่วงในช่วงนี้ จะมีเนื้อนุ่มและหวานฉ่ำ เหมาะแก่การบริโภคร่วมกับข้าวเหนียวมูน หรือข้าวเหนียวมะม่วงที่จะมีส่วนผสมของน้ำกะทิสด ที่จะได้ทั้งรสชาติความหวานปนเค็มและมันชุ่มฉ่ำอยู่ในลำคอ ระหว่างที่กำลังบริโภค ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่จะได้บริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้ในช่วงที่อร่อยที่สุดแล้ว

 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 23 มี.ค.66 ที่ผ่านมานายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางมาแถลงข่าวร่วมกันกับ นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตร จ.ฉะเชิงเทรา นายมานพ แก้ววงษ์นุกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นายกระจ่าง จำศักดิ์ ประธานสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วง จ.ฉะเชิงเทรา จำกัด นางบุญมี ศรีสุข นายกสมาคมธุรกิจการค้าอาหาร จ.ฉะเชิงเทรา 

ภายในห้องประชุมของโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ในการเตรียมความพร้อมที่จะร่วมกันจัดงานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้วขึ้น ซึ่งในปีนี้ได้มีกำหนดการจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 31 มี.ค.- 9 เม.ย.66 รวม 10 วันในเวลา 09.00-21.00 น. ซึ่งภายในงานจะมีชาวสวนมะม่วง ร้านจำหน่ายสินค้าเกษตร ผู้ค้าอาหาร มาร่วมกันจำหน่ายสินค้าภายในงานเป็นจำนวนมาก 

โดยที่ทางธนาคารกรุงไทย สาขาฉะเชิงเทรา ได้เตรียมที่จะนำเทคโนโลยีสำหรับการจับจ่ายสินค้าภายในงานด้วยเงินระบบอีเล็กทรอนิกส์ หรือเงินดิจิทัล มาให้แก่ร้านค้าได้ใช้ภายในบริเวณการจัดงาน เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นบริการเสริมให้แก่ประชาชน ด้วยการชำระเงินผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ดที่บริเวณหน้าร้านค้าในงานทุกร้านได้อย่างสะดวก หรืออาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในงานนี้

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมจัดขบวนนรถ KIHA183 กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา เพื่อพานักท่องเที่ยวแบบ ONE DAY TIP มาร่วมชิมข้าวเหนียวมูลมะม่วง ในวันที่ 8-9 เม.ย.66 ด้วย

สำหรับผลผลิตมะม่วงของชาวสวน จ.ฉะเชิงเทรา นั้นเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เกษตรปลอดภัย โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้านั้นยังเป็นสินคล้า GI ของจังหวัด ที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยที่ยังมีมะม่วงอีก 3 ชนิดที่กำลังขอจัดทำการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงขายตึก และมะม่วงแรด ที่เป็นอัตลักษณ์ของมะม่วงแปดริ้ว ที่ไม่เหมือนกับที่อื่นจากสภาพที่ตั้งแปลงปลูกอยู่ในพื้นที่ 3 น้ำ (น้ำจืด เค็ม กร่อย) 

ทั้งยังเป็นสินค้า Soft Power ที่สร้างรายได้จากการจัดงานปีที่แล้ว มีมูลค่าถึง 11 ล้านบาท รวมถึงยังเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา คิดเป็นมูลค่า 425 ล้านบาท จากผลผลิตจำนวน 18,300 ตันต่อปี บนพื้นที่ปลุกประมาณ 19,753 ไร่ โดยที่ในงานจะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาจำหน่าย และไม่มีการใช้ภาชนะใส่อาหารด้วยโฟม หรือเป็นงาน Smart MarKet No Alcohol No Foom เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับยังมีจุดเช็คอินท์จากทางธนาคารกรุงไทยในการเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ด้วย 

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา