In Bangkok
ศูนย์เอราวัณแจงได้แจ้งอาสามูลนิธิดูแล ผู้ป่วยหลังรับแจ้งผ่านสายด่วน1669

กรุงเทพฯ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กทม.แจงประสานอาสามูลนิธิให้ดูแลผู้ป่วยหลังรับแจ้งผ่านสายด่วน 1669
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนโทรสายด่วน 1669 ให้มารับผู้ป่วยหนักโดยรอนานกว่า 5 ชั่วโมง จนผู้ป่วยเสียชีวิตว่า สนพ.ขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค.66 เวลา 07.11 น. มีผู้โทรแจ้งผ่านสายด่วน 1669 ให้รถพยาบาลมารับผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ในห้องพักที่ซอยอิสรภาพ 29 ลัดออกซอยจรัญสนิทวงศ์ 12 ซึ่งเป็นซอยแคบมาก ผู้รับโทรศัพท์จึงให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณแจ้งผ่านไลน์ “อาสามูลนิธิ” เข้าไปดูแลผู้ป่วย ต่อมาเวลา 07.30 น. หมายเลขเดิมโทรมาตามรถ เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณจึงแจ้งว่า ได้ให้อาสามูลนิธิเข้าไปดูแล แต่ภายหลังสอบถามที่มูลนิธิแจ้งว่า ไม่มีการพิมพ์ตอบการปฏิเสธเคสในไลน์และการกดปฏิเสธการรับเคสในระบบก็ไม่ทันทีแบบ realtime ในเวลานั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณจึงเข้าใจว่า มูลนิธิอยู่ระหว่างดำเนินการ จากนั้นเวลา 10.28 น. ญาติผู้ป่วยอีกคนโทรแจ้งขอรถพยาบาลเนื่องจากผู้ป่วยหมดสติ เมื่อเจ้าหน้าที่จะแนะนำวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) มีญาติแจ้งว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วให้แจ้งตำรวจแทน และในเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณได้ประสานญาติผู้เสียชีวิต เพื่อรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการของศูนย์เอราวัณ ภายใต้หมายเลข 1669 ในภาวะปกติมีสายด่วนโทรเข้าศูนย์เอราวัณประมาณวันละ 2,500 สาย และต้องประสานส่งต่อผู้ป่วยประมาณ 200 - 300 ราย/วัน ศูนย์เอราวัณจึงจำเป็นต้องมีเครือข่ายช่วยให้บริการออกรับ - ส่งเคส เพื่อให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ขณะเดียวกันศูนย์เอราวัณยังเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ และเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินทุกประเภท รวมทั้งบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมทีมกู้ชีพในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย จากกรณีดังกล่าวจึงจำเป็นต้องเพิ่มจุดบริการผู้ป่วยให้เพียงพอ ซึ่งต้องอาศัยทั้งทรัพยากรและบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาระบบสารสนเทศและการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อให้สามารถประสานการรับแจ้งและให้บริการรับ - ส่งผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลในสังกัด กทม.ได้จัดบริการรองรับประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการด้วยความสะดวก รวดเร็วและลดความแออัดในสถานพยาบาล เช่น การบริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ที่สามารถพบแพทย์ผ่าน Video Conference ร่วมกับระบบการรักษาพยาบาลปกติ นัดหมาย จองคิว ชำระค่าบริการ เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน และเปิดให้บริการ “สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646” ให้บริการคำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 24 ชั่วโมง