In Bangkok

รองผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่เขตประเวศตรวจ แยกขยะ-สวน15นาที-คุ้มเข้มเพลนท์ปูน



กรุงเทพฯ-เตรียมพร้อมระบบจัดเก็บภาษีรายได้ BMA-TAX ตรวจคัดแยกขยะเขตประเวศ ชูต้นแบบคัดแยกขยะห้างซีคอนศรีนครินทร์ ปั้นสวนคลองปักหลักเป็นสวน 15 นาที คุมเข้มแพลนท์ปูนคิวมิกซ์ซัพพลายป้องกันฝุ่น PM2.5 

(31 มี.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตประเวศ ประกอบด้วย 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 85,388 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 57,281 แห่ง ห้องชุด 34,332 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 177,001 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี การพิมพ์เอกสารจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 นอกจากนี้ได้ติดตามปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตประเวศ มีข้าราชการและบุคลากร 150 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล พนักงานประจำสถานที่ จะรวบรวมไว้ขาย 2.ขยะอินทรีย์ พนักงานประจำสถานที่ จะนำไปเลี้ยงเป็ดที่พักอาศัยเนื่องจากมีปริมาณน้อย 3.ขยะอันตราย ใส่ถังขยะอันตรายตามแต่ละฝ่าย 4.ขยะทั่วไป พนักงานประจำสถานที่ จะดำเนินการรวบรวมมาไว้จุดพักขยะด้านล่าง และเข็นไปรอรถเก็บขนมูลฝอยเข้ามาดำเนินการจัดเก็บ รถเก็บขนมูลฝอยจัดเก็บทุกวัน ส่วนวิธีการจัดการขยะแต่ละฝ่าย ดำเนินการดังนี้ 1.ข้าราชการลูกจ้างในแต่ละฝ่ายจะมีถังขยะทั่วไป ถังขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระดาษ แยกเก็บไว้ขาย ส่วนขยะทั่วไปนำไปใส่ถังขยะบริเวณจุดพักขยะของแต่ละฝ่าย 2.ขยะเศษอาหารข้าราชการลูกจ้างของฝ่ายนั้นๆ จะนำไปทิ้งในถังขยะภายในห้องครัวของแต่ละฝ่าย วิธีการเก็บขยะ เวลาประมาณ 14.00 น. ของทุกวัน แม่บ้านแต่ละฝ่ายจะเดินเก็บขยะ โดยแยกขยะเศษอาหาร ขยะทั่วไป และขยะอินทรีย์นำมาแยกใส่ถังขยะแต่ละประเภทของแต่ละชั้น สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 800 ลิตร/วัน หลังคัดแยก 440 ลิตร/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ การคัดแยกขยะเศษอาหารบนโต๊ะอาหารของศูนย์อาหารซีคอนสแควร์ โดยนำเศษอาหารใส่ในถังรวม รอผู้รับเศษอาหารมารับเพื่อนำไปเลี้ยงปลา ผู้ปรุงอาหารคัดแยกเศษอาหารที่เหลือจากการปรุงอาหารในแผงค้าของตนเอง นำไปใส่ในถังรวมของศูนย์อาหารฯ นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ กำลังดำเนินการขยายผลการคัดแยกเศษอาหารไปยังร้านค้าภายในห้างฯ โดยนำขยะเศษอาหารมาทิ้งรวมกับศูนย์อาหารฯ 2.ขยะรีไซเคิล ยังไม่มีการคัดแยก 3.ขยะทั่วไป เขตฯ นำไปกำจัด 4.ขยะอันตราย ไม่มีการคัดแยก สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 6-7 ตัน/วัน หลังคัดแยก 4-5ตัน/วัน ขยะรีไซเคิล ยังไม่มีการคัดแยก ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน 

สำรวจสวน 15 นาที สวนคลองปักหลัก ถนนกาญจนาภิเษก พื้นที่ 3 ไร่ (กว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร) กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมทางหลวง ซึ่งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ปรับปรุงภูมิทัศน์ไม่กำหนดระยะเวลา ที่ผ่านมาเขตฯ ได้พัฒนาจัดทำเป็นสวน 15 นาทีแห่งใหม่ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ ปูหญ้า จัดทำทางเดินรอบสวน สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ โดยมีประชาชนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาใช้บริการ อาทิ ชุมชนคลองปักหลัก โรงเรียนคลองปักหลัก ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ และคณะผู้บริหารเขตประเวศ ได้ร่วมกันปลูกต้นแก้วเจ้าจอม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท คิวมิกซ์ซัพพลาย จำกัด ถนนมอเตอร์เวย์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออก รวมถึงในพื้นที่โดยรอบให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีตตกตะกอน เก็บเศษคอนกรีตที่กองอยู่ด้านในให้เรียบร้อย ก่อสร้างบ่อล้างล้อรถโม่ปูนบริเวณทางเข้า-ออก ล้างทำความสะอาดพื้นถนนภายในแพลนท์ปูน ตลอดจนตรวจวัดควันดำรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษทางอากาศ 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตประเวศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล