In Bangkok

Inspire Talk เพราะชีวิตคือการลากเส้น ต่อจุด อย่าหยุดแค่จุดที่คิดว่าไม่ใช่



กรุงเทพฯ-ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของเหล่านักเรียนมัธยมปลาย ผู้กำลังแสวงหาตัวตนและหนทางสู่อนาคต กับบรรดานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากทุกคณะที่พร้อมใจกันเปิดบ้านต้อนรับการมาเยือนของน้อง ๆ ด้วยความสดใสในงาน CHULA OPEN HOUSE 2023 : UNLOCK CHULA ทำให้การมาบรรยายของ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ส่วนกลางศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ Inspire Talk ในวันนี้ (2 เม.ย. 66) เต็มไปด้วยความสนุกและผ่อนคลาย จนทำให้รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ใช้คำเรียกแทนตัวเองว่า “พี่” เช่นนั้นแล้วผู้เขียนก็ขอกลายร่างเป็น “น้อง” เก็บเรื่องราวบรรยายบันดาลใจวัยรุ่นของพี่ศานนท์มาเล่าให้ฟัง

จุดที่ 1 อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป

พี่ศานนท์ เป็นศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 50 นับถึงวันนี้ก็ร่วม 16 ปีแห่งความหลัง การได้กลับมาวันนี้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกายภาพ แต่กลิ่นอายต่าง ๆ ยังคงเดิม แค่ได้เห็นน้อง ๆ นิสิตที่เป็นฝ่ายจัดงานถือ ว. ก็ย้อนกลับไปว่าสิ่งที่คิดถึงมาก ๆ คือการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะสมัยเรียนเป็นเด็กกิจกรรมมาโดยตลอด เพียงได้มานั่งอยู่ในศาลาพระเกี้ยว ภาพก็กรอกลับไปถึงวันที่แพ็คถุงยังชีพเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ คิดถึงตอนเป็น อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ) คิดถึงเพื่อน ๆ ที่ร่วมทำงานด้วยกัน คิดถึงอาจารย์ที่เคารพและสร้างเราให้เป็นเราในทุกวันนี้ รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านอีกครั้ง

จุดที่ 2 การเรียนในมหาวิทยาลัย = ระบบสุริยะ การทำงานจริง = จักรวาล

เมื่อถามว่าในสมัยเรียนพี่ศานนท์ทำกิจกรรมอะไร มากน้อยแค่ไหน ก็ได้คำตอบเปิดโลกว่า กิจกรรมคือการเรียนรู้หลักของพี่ศานนท์ก็ว่าได้ เพราะแม้การเรียนในห้องเรียนจะสำคัญ แต่การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่นอกห้องเรียน พี่ศานนท์ใช้เวลาเรียนนอกห้องเรียนมากกว่าในห้อง หากใครเรียนวิศวะจะเข้าใจ เพราะจะมีช่วงที่เรียน ไม่ต้องเข้าเรียน และสอบ ในช่วงที่ไม่ต้องเข้าเรียนก็จะใช้เวลากับกิจกรรมเป็นส่วนมาก ยกตัวอย่าง ช่วงปี 1 วิชาที่เรียนมากคือวิชาลอยกระทง(เป็น aka. ที่เด็กวิศวะเรียกนะ ไม่ใช่วิชาจริงๆ) ซึ่งต้องมาทำกระทงขนาดใหญ่ เด็กวิศวะมีประมาณพันคน ในการเรียนปกติพันคนไม่มีทางได้มารู้จักกัน จะรู้จักกันแค่ในสาขาวิชาเดียวกัน แต่กิจกรรมนี้ทำให้รู้จักชาววิศวะในสาขาต่าง ๆ ได้รู้ว่าใครถนัดอะไร เก่งด้านไหน หรือตอนทำ อบจ. ก็ได้ขยายจักรวาลไปสู่คณะอื่น ๆ เป็นช่วงชีวิตที่ได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายของสังคม จึงเป็นรากฐานของการทำงานหลังเรียนจบที่ทำให้ได้รู้ว่าทุกคนมีความแตกต่างเพราะมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน องค์ความรู้แตกต่างกัน การทำกิจกรรมจึงเป็นการเรียนรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้

จุดที่ 3 พ่อไม่เข้าใจศา แต่ศาจะพยายามเข้าใจพ่อ

เมื่อย้อนถามถึงเหตุผลที่เลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ พี่ศานนท์ก็เล่าอย่างบันเทิง(แต่เชื่อว่าในช่วงวัยกระโปรงบานขาสั้น ณ ตอนนั้นของพี่ศานนท์ไม่น่าจะบันเทิงเท่าไหร่) ว่า ณ เวลานั้นอยากเรียนสถาปัตย์ เพราะพื้นฐานเป็นคนชอบศิลปะ ชอบวาดรูป ชอบอาร์ตมากกว่าโลจิก แต่มีทักษะเด่นคือ เก่งด้านคณิตศาสตร์ การคำนวณ จึงคิดว่าสถาปัตย์เป็นศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างวิทย์กับศิลป์ แต่ชีวิตหักมุมด้วยว่าคุณพ่อนั้นประกอบอาชีพสายวิศวะโยธาที่เรียกได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเหล่าสถาปนิก ลูกจะเรียนอะไรก็ได้ขอแค่ไม่ใช่สถาปัตย์ หลังจากปั้นปึ่งกับพ่ออยู่พักใหญ่ สุดท้ายพ่อก็หาทางออกให้ด้วยการแนะนำว่าลองไปทางทันตแพทย์มั้ย เพราะมันมีทั้งวิทย์และศิลป์ คือทันตกรรมหัตถการ ซึ่งพี่ศาเองก็ยอมใจเลือกทันตะเป็นอันดับหนึ่งในการสอบ และเลือกวิศวะเป็นอันดับรอง ไม่แม้แต่จะมีสถาปัตย์อยู่ในอันดับคณะที่เลือกด้วยคุณพ่อสกัดจุดไว้ เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงวันนั้นจึงอยากบอกน้อง ๆ ในวันนี้ว่า ถ้าความฝันหรือเจตจำนงค์ที่เราอยากเรียนคณะใดในวันนี้แต่ไม่ได้เรียน ไม่ได้หมายความว่าเราคือผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง จงอย่าแตกสลายด้วยจุดเปลี่ยนนั้น เพราะพี่ศานนท์เองตอนเข้าเรียนวิศวะก็ไม่ได้ชอบ ฉันยังอาวรณ์อยู่(Baby i want you~)ถึงการเรียนสถาปัตย์เสมอ แต่สุดท้ายการเรียนวิศวะในวันนั้นก็เป็นจุดหนึ่งในชีวิตที่ลากเส้นต่อจุดมาถึงวันนี้ วันที่เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เราไม่มีทางรู้เลยว่าจุดก่อนหน้าหรือจุดปัจจุบันในชีวิตจะนำพาเราไปอยู่จุดไหนในอนาคต

จุดที่ 4 เพราะชีวิตคือการลากเส้นต่อจุด

ในจุดสุดท้ายของการบรรยาย แต่ไม่ใช่ท้ายสุดของการลากเส้นต่อจุดชีวิตทุกคนที่นั่งฟังในศาลาพระเกี้ยวนี้ พี่ศานนท์ฝากบันดาลใจถึงน้อง ๆ ทุกคนว่าขอให้มั่นใจในสิ่งที่เราเลือก แต่ถ้าตัดสินใจแล้วขอให้ทำให้เต็มที่ที่สุด ทุกทางเลือกมีความสวยงามของมันเสมอ ไม่ว่าใครจะได้เรียนตามที่ฝันหรือชีวิตหันเหไปในทางที่ไม่ได้เลือก อยากให้รู้ว่าทุกเส้นทางต้องใช้ความพยายาม พรสวรรค์เพียงแค่ 1% อีก 99% คือพรแสวง ทุกวันนี้ที่พี่ศานนท์มาทำงานบริหารกรุงเทพมหานคร ความรู้ทางวิศวะที่เรียนมาอาจแทบไม่ได้ใช้อะไร แต่ใช้พรแสวงคือความพยายามแทบจะ 100% ในการทำงาน ทั้งเรื่องสังคม การศึกษา คนไร้บ้าน ความเหลื่อมล้ำ ทุกเรื่องที่ทำมาจากการศึกษา ฝึกฝนมุ่งมั่น พยายาม แต่ในจุดหนึ่งของชีวิตที่เราได้ปักหมุด มันจะลากเส้นไปสู่อีกจุดหนึ่งเสมอ