In Thailand
ชาวกบินทร์บุรีไม่ต้องการซีเซี่ยม-137ถามเมื่อใดจะนำออกนอกพื้นที่
ปราจีนบุรี-ชาวกบินทร์บุรีไม่ต้องการซีเซี่ยม-137 ถามเมื่อใดจะนำออกนอกพื้นที่ และขอคำตอบ สารที่ลักษณะคล้ายซีเซี่ยมยังมีอยู่ที่ไหนอีก? ขณะผู้ว่าฯประชุมการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137
วันนี้ 5 เม.ย.66 สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานความคืบหน้า หลังจากกรณีภาชนะบรรจุสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 (Caesium - 137) ซึ่งติดตั้ง ณ โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ พื้นที่ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 1 ชิ้นได้สูญหายไปและคาด ว่าจะมีผู้นำออกไปจากบริเวณโรงงานและจำหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า จนในที่สุดอาจจะเข้าสู่ ขบวนการหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก บริเวณ ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัด ปราจีนบุรี ตามลำดับ ตามที่มีการเสนอโดยต่อเนื่อง
วันนี้ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี / ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี ได้มีหนังสือราชการด่วนที่สุด ที่ ปจ (กปภจ) ๐๐๒๑.๒/ ว๑๓๑๒ เรื่อง ขอเชิญประชุมกรณีการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี รายบริษัท เค.พี.พี.สตีล จำกัด โดยระบุข้อความว่า
ตามที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยในกระบวนการการทำความสะอาดระบบหลอมโลทะของโรงงานที่เกิดเหตุการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเชียม - ๑๓๗ และมีคำสั่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่ ๕๔/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแผนการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี รายบริษัท เค.พี.พี.สตีล จำกัด เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาแผนการดำเนินการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาแผนการดำเนินการจัดการฝุ่นโลทะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กำหนดประชุมกรณีการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี รายบริษัท เค.พี.พี.สตีล จำกัด ในวันพุธที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหาดนางแก้ว ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตามที่ได้นำเสนอ รายละเอียด ก่อนนี้ นั้น
ความคืบหน้า พบที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหาดนางแก้ว (อบต. ) อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี เป็นประชุมการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137
มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ นักวิชาการ ชี้แจงผลการดำเนินการที่ผ่านมาให้ทราบ โดยมีตัวแทนของชาวบ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมรับฟัง และมีชาวบ้านจากตำบลหาดนางแก้ว ตำบลลาดตะเคียนและ ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี มารอรับฟังการชี้แจงคำตอบ –ความชัดเจนปัญหาซีเซี่ยม -137 ของคณะทำงานรวมกว่า 100 คน
โดยที่ผ่านมาชาวบ้านมีความหวาดกลัว และ กังวล ไม่ต้องการให้สารซีเซียม-137 อยู่ในพื้นที่ของ อ.กบินทร์บุรี เพราะอาจจะได้รับผลกระทบจากสารปนเปื้อนซีเซียม -137 ที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ หรือการทำมาหากิน ซึ่งประชาชนมีอาชีพทำการเกษตร
บรรยากาศที่ประชุม พบนายสุนทร หรือเกษตรแหลม คมคาย แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์จ.ปราจีนบุรี และ นายเฉลิม เกียรติบรรจง ตัวแทนชาวบ้าน ได้สอบถามถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการกับสารปนเปื้อนซีเซียม -137 ออกจากจังหวัดปราจีนบุรีได้เมื่อใด เพราะ ไม่เชื่อมั่น! ที่ผ่านมามีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ,ผลไม้ ,การท่องเที่ยว ,การสัมมนาศึกษาดูงาน เป็นเบื้องต้น รวมถึง ขอให้มีคำตอบถึงกรณีมีสารลักษณะคล้ายซีเซี่ยม-137 อีกกว่า ลูก ในพื้นที่ ที่ต้องมีคำตอบ
ด้าน ทางโรงหลอม และเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ชี้แจงในที่ประชุม ถึงขั้นตอนกระบวนการหลอมโลหะด้วยเครื่องมืออย่างละเอียด ตามขั้นตอนยืนยันว่าไม่พบสารปนเปื้อนซีเซียม-137 ที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทุกฝ่ายมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนทุกคน และอยู่ระหว่างดำเนินการการจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีในโรงงาน คาดว่าภายใน 7 วัน ที่เกี่ยวข้องจะจัดการฝุ่นโลหะปนเปื้อนในโรงหลอม และจะได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบในโอกาสต่อไป
ด้านนางบุญมี ตะชะบัญ ราษฎรหมู่ที่ 10 ตำบลลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี กล่าวว่ามีอาชีพค้าขายผลไม้ก่อนหน้านี้ค้าขายได้ดีหลังจากที่ทราบว่า พบสารซีเซียม-137 อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ค้าขายผลไม้น้อยลงตนเองและชาวบ้านมีความกลัวสารปนเปื้อนอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ได้มีประกาศจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงนามโดยนางดารุณี พีขุนทดผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบ และมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัยพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่ เรื่อง การตรวจวัดระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีซีเชียม-๑๓๗ ในสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานหลอมโลหะที่เกิดเหตุ กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-๑๓๗ สูญหาย อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
โยระบุข้อความว่า เนื่องด้วยสถานการณ์วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-๑๓๗ สูญหายจากสถานประกอบการทางรังสีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ๓๐๔ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติโดยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเชียม-๑๓๗ ในพื้นที่เกิดเหตุ ณ จังหวัดปราจีนบุรี จึงได้จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ แห่งประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๒ ข้อ ๘ (๒) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๔ และมาตรา ๑๐๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่จึงขอประกาศผลการตรวจวัดระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสี-๑๓๗
ในพื้นที่โรงงานหลอมโลหะที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. การตรวจวัดระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงานหลอมโลหะที่เกิดเหตุ
๑.๑ ตรวจวัดระดับรังสีโดยใช้เครื่องมือวัดทางรังสีที่ติดตั้งในรถยนต์และแบบพกพา
โดยตรวจวัดระดับรังสีในบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงหลอมโลหะ ผลการตรวจวัดพบว่าระดับรังสีที่อยู่ในระดับรังสี
ตามธรรมชาติของประเทศไทย
๑.๒ ตรวจวัดระดับรังสีบริเวณที่พักอาศัยของประชาชนโดยรอบโรงหลอมโลหะด้วย
เครื่องวัดรังสีแบบพกพาและแบบกระเป๋าเป้ ผลการตรวจวัดพบว่าระดับรังสีอยู่ในระดับรังสีตามธรรมชาติของประเทศไทย
๑.๓ ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-๑๓๗ ในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดิน น้ำผิวดิน และฝุ่น
ละออง ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงานหลอมโลหะ ผลการตรวจวัดพบว่ากัมมันตภาพรังสี-๑๓๗ ในตัวอย่างดังกล่าว
อยู่ในระดับปกติที่สามารถพบในธรรมชาติของประเทศไทย
ข้อ ๒. การตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-๑๓๗ ในน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในพื้นที่ ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-๑๓๙ ด้วยเครื่องวัดรังสีแกมมาสเปคโตรมิเตอร์ ในน้ำดิบจากสถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน ๔ จุด ได้แก่ สถานีผลิตน้ำนางเลง สถานีผลิตน้ำท่าตูม สถานีผลิตน้ำบางบริบูรณ์ และสถานีผลิตน้ำศรีมหาโพธิ ผลการตรวจวัดไม่พบซีเซียม- ๑๓๗ ในน้ำดิบทั้ง ๔ จุด ทั้งนี้ รายละเอียดปรากฏตามแนบท้ายประกาศ ประกาศ ณ วันที่ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖
มานิตย์ สนับบุญ / ปราจีนบุรี