In Global

'อีสต์ เวนเจอร์ส'เปิดตัวดัชนีวัดศักยภาพ การแข่งขันทางดิจิทัลประจำปี2566



จาการ์ตา อินโดนีเซีย, 7 เมษายน 2566-อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures) บริษัทร่วมลงทุนที่บุกเบิกและไม่เจาะจงอุตสาหกรรม ซึ่งให้การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีกว่า 300 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ (Katadata Insight Center) และพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย (PwC Indonesia) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2566 ในชื่อ East Ventures - Digital Competitiveness Index หรือ EV-DCI 2023 ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 นับตั้งแต่ที่เริ่มเผยแพร่ฉบับแรกในปี 2563 รายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 นี้นำเสนอการวัดประเมินศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลของอินโดนีเซียภายใต้ธีม “ประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค” (Equitable digital nation)

คุณวิลสัน ชัวเชอ (Willson Cuaca) ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของอีสต์ เวนเจอร์ส กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้มีความเท่าเทียมมากขึ้นในทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดใหม่ ๆ) ที่อีสต์ เวนเจอร์ส ได้วัดประเมินมาเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน สิ่งนี้จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของอินโดนีเซียในอนาคต และจะส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั่วทั้งอินโดนีเซีย เราขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงสุดต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งของการพัฒนาดิจิทัลที่รวดเร็วและเท่าเทียมภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (Joko Widodo) ตลอดจนรัฐบาลทุกระดับที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและเสมอภาค การเติบโตของนวัตกรรมใหม่ ๆ ในทุกอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคนและยั่งยืน ประกอบกับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ตั้งแต่นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง สตาร์ตอัป ผู้บริโภค บริษัทเอกชน ไปจนถึงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย ขณะนี้เรากำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและเข้าใกล้มากขึ้นในการบรรลุการเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค”

รายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลใน 38 จังหวัดและ 157 เมือง/เขตในอินโดนีเซีย ศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลในภูมิภาคต่าง ๆ ในอินโดนีเซียแสดงแนวโน้มเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากคะแนน EV-DCI ปี 2566 ที่ 38.5 คะแนน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 35.2 คะแนน (ปี 2565) และ 2 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 32.1 คะแนน (ปี 2564)

คุณอาเดค เมดียา โรซา (Adek Media Roza) ผู้อำนวยการของคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลยังเพิ่มขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก 10 อันดับแรกด้วย โดยกล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของค่ามัธยฐาน 4 ปีต่อเนื่องกันแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล โดยเฉพาะในจังหวัดระดับกลางและระดับล่าง”

ค่าช่วงห่างหรือช่องว่างความแตกต่างระหว่างคะแนนรายจังหวัดที่สูงที่สุด (เขตพิเศษเมืองหลวงจาการ์ตา - 76.6 คะแนน) กับที่ต่ำที่สุด (ปาปัวกลาง - 23.3 คะแนน) ในรายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 อยู่ที่ 53.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 48.3 ในปี 2565 อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของช่วงห่างนี้มิได้เกิดจากความเสมอภาคของการพัฒนาสู่ดิจิทัลที่แย่ลง แต่เกิดจากการแบ่งแยกจังหวัดระหว่างปาปัวกับปาปัวตะวันตก

รายงาน EV-DCI ยังมาพร้อมกับผลการสำรวจบริษัทดิจิทัล 39 แห่ง การวิเคราะห์ 8 หมวดธุรกิจ และมุมมองจาก 22 บุคคลสำคัญ ทั้งผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล เช่น รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ รัฐมนตรีประสานงานกิจการและการลงทุนทางทะเล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอื่น ๆ นอกจากนี้มุมมองดังกล่าวนี้ยังรวมถึงผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป อย่างเช่น ประธานบริษัททราเวลโลก้า (Traveloka) ซีอีโอของโคอินเวิร์คส์ (KoinWorks) ซีอีโอของนูซานติกส์ (Nusantics) และอื่น ๆ

บุคคลเหล่านี้ได้มอบมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมความพยายามยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค โดยเน้นย้ำขั้นตอนและกลยุทธ์ที่พวกเขาได้ใช้ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้

คุณลูฮัต บินซาร์ ปันด์ใจตัน (Luhut Binsar Pandjaitan) รัฐมนตรีประสานงานกิจการและการลงทุนทางทะเล เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมผู้เล่นด้านโทรคมนาคมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายไปสู่พื้นที่ห่างไกล ด้วยโครงการปาลาปา ริง (Palapa Ring) และดาวเทียมอเนกประสงค์แซเทรีย (Satria) รัฐบาลยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างเครือข่ายแกนหลัก สำหรับในฝั่งปลายน้ำ รัฐบาลทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายรายเพื่อให้การฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

รัฐบาลยังดำเนินการฝึกอบรมทักษะความเข้าใจและการแนะแนวธุรกิจ เพื่อให้วิสาหกิจขนาดเล็ก ย่อม และกลาง (MSME) มีทักษะความเข้าใจในด้านการตลาดดิจิทัลด้วยโครงการพราวด์ลี เมด อิน อินโดนีเซีย (Proudly Made in Indonesia หรือ Bangga Buatan Indonesia) และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายเกี่ยวกับปัญหาการประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมักทำงานไม่สอดคล้องกัน

คุณแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต (Airlangga Hartarto) รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ หวังว่าการเติบโตทางดิจิทัลจะก่อผลดีแก่ประชาชนอินโดนีเซียทั้งหมด “เป็นที่คาดหวังว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคน คล่องตัว ยั่งยืน และทำให้แน่ใจได้ว่าชาวอินโดนีเซียจะได้ประโยชน์จากการเติบโตทางดิจิทัลนี้ โดยสอดคล้องกับกรอบการทำงานว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2565-2573 เช่นนี้ย่อมจะมีส่วนช่วยในการบรรลุวิสัยทัศน์ของอินโดนีเซียในปี 2588”

การทำงานร่วมกันสู่การเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค

ขณะนี้เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียกำลังเติบโต โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคอย่างแข็งแกร่งและการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่สามารถแยกขาดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่ายในหลากหลายหมวดธุรกิจ รัฐบาลและภาคเอกชนกำลังทำงานร่วมกัน เพื่อรักษาระดับการพัฒนาของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในหมวดธุรกิจที่สำคัญ อย่างเช่น เทคโนโลยีการเงิน โลจิสติกส์ เทคโนโลยีการศึกษา และเทคโนโลยีสุขภาพ

คุณเตเตน มัสดูกี (Teten Masduki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ให้สัมภาษณ์ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ โดยได้อธิบายเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการมุ่งสร้างความยุติธรรมเชิงดิจิทัล คุณเตเตนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดเล็ก ย่อม และกลางด้วยการทำงานร่วมกับอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ คุณแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ ยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมสำหรับสตาร์ตอัป ขณะเดียวกัน คุณซานเดียกา อูโน (Sandiaga Uno) รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่าการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัปเป็นสิ่งจำเป็น

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลแสดงแนวโน้มเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการรักษาระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย ประกอบด้วย (1) การกระจายการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (2) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพื้นฐานทางธุรกิจ (3) การเพิ่มการทำงานร่วมกัน และ (4) การดำเนินการตามหลักสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

คุณรัดจู มูนูซามี (Radju Munusamy) หุ้นส่วนและเน็กซ์เลเวล ลีดเดอร์ (NextLevel Leader) ของพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย กล่าวว่า “ความพยายามของอินโดนีเซียในการบรรลุความเสมอภาคทางดิจิทัลจำเป็นต้องใช้การทำงานร่วมกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลประกอบด้วยบริษัททั้งประเภทสตาร์ตอัปและดั้งเดิม รัฐบาล นักลงทุน และสาธารณชน การทำงานร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ สามารถมุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมในความพยายามพัฒนาสู่ดิจิทัล เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพื้นฐานทางธุรกิจ และดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนตามหลัก ESG โดยคาดว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สนับสนุนการเกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม”

คุณวิลสัน กล่าวเสริมว่า “ยังมี ‘การบ้าน’ อีกมากที่ต้องทำให้เสร็จและมีความท้าทายอีกหลายประการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายต้องจัดการ เราจะดำเนินการต่อไปเพื่อสนับสนุนการกระจายความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลอย่างเท่าเทียมในอินโดนีเซีย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียผ่านการลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับโครงการริเริ่มหรือโครงการต่าง ๆ ของเรา”

เกี่ยวกับคะแนนดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลของอีสต์ เวนเจอร์ส ประจำปี 2566

EV-DCI เป็นแผนที่ที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันทางดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยมี 3 ดัชนีย่อย, 9 เสาหลัก และ 50 ตัวชี้วัด ดัชนีย่อยที่ว่านี้ประกอบด้วย การรับเข้า ผลผลิต และการสนับสนุน ส่วนเสาหลักทั้ง 9 ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ การใช้ไอซีที ค่าใช้จ่ายด้านไอซีที เศรษฐกิจ การเป็นผู้ประกอบการและผลิตภาพ การจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน ไปจนถึงข้อบังคับและความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่น

จังหวัดที่มีคะแนน EV-DCI สูงสุดในปี 2566 ยังคงเป็นกรุงจาการ์ตาด้วยคะแนน 76.6 ในขณะเดียวกัน อันดับสองและสามเป็นของจังหวัดชวาตะวันตกและเขตพิเศษยอกยาการ์ตาด้วยคะแนน 62.2 และ 54.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ ชวากลางได้กลับเข้าสู่ 10 อันดับแรกที่อันดับที่ 6 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 10.1 คะแนนเป็น 48.1 คะแนนในดัชนี EV-DCI ปี 2566 และสุมาตราเหนือได้กลับเข้าสู่ 10 อันดับแรกเช่นกันโดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 5.7 คะแนน

หลายจังหวัดนอกชวายังมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี ตัวอย่างเช่น จัมบีมีคะแนน EV-DCI เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้อันดับของจัมบีเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับที่ 14 โดยจัมบีมีคะแนนเพิ่มขึ้น 8.0 คะแนนเป็น 39.8 คะแนน หมู่เกาะบังกาเบลีตุงและกาลีมันตันตะวันตกมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยมีอันดับเลื่อนขึ้น 12 อันดับทั้งคู่