In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่ตรวจงานเขตคันนายาว ร่วมห้างแฟชั่นฯเปิดHawker Center

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ คันนายาวจับมือแฟชั่นไอส์แลนด์ เปิดพื้นที่ Hawker Center หน้าศูนย์การค้า ตรวจวัดควันดำอู่รถเมล์ย่านสวนสยาม ตรวจแยกขยะอาคารสำนักงานเขต ติดตามระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ ชมคัดแยกขยะชุมชนหมู่บ้านเก้าแสนเจ็ด
(10 เม.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคันนายาว ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณหน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 15-18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ซึ่งผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยให้ใช้พื้นที่บางส่วนบริเวณด้านข้างแลมป์กลับรถ จัดทำเป็น Hawker Center ไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ ขีดสีตีเส้นแบ่งพื้นที่ร้านค้าเป็นสัดส่วน ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่มาต่อรถโดยสารประจำทาง รวมถึงพนักงานในศูนย์การค้าฯ โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้ากลับบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตะกร้า ร่ม และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าทุกวัน ไม่ให้มีขยะและคราบน้ำมันตกค้าง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 76 ราย ดังนี้ 1.ถนนคู้บอน ตั้งแต่ปากซอยถนนคู้บอน จุดสิ้นสุดเลยปากซอยมา 100 เมตร ผู้ค้า 11 ราย 2.ริมถนนหน้าสวนคันนายาวรมณีย์ ตั้งแต่หน้าร้าน 7-11 (แยกสวนสยาม 1) ถึงคลองลำราง (คลองลำเกร็ด) ผู้ค้า 21 ราย 3.ถนนรามอินทรา ตั้งแต่หน้าห้างแฟชั่นไอแลนด์ ถึงบริเวณหน้าห้าง 20 เมตร ผู้ค้า 14 ราย 4.ถนนเสรีไทย ตั้งแต่ปากซอยเสรีไทย 61 จุดสิ้นสุดจากปากซอยเข้ามา 40 เมตร ผู้ค้า 11 ราย 5.ริมถนนสวนสยาม ตั้งแต่หน้าสรรพากรพื้นที่ 19 ถึงตลาดสวนสยาม ผู้ค้า 11 ราย 6.บริเวณแยกอมรพันธ์ถึงซอยสวนสยาม 30 ตั้งแต่ปากทางถนนสวนสยาม 20 เมตร ผู้ค้า 8 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ พิจารณาหาแนวทางยุบรวมพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงสำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ประกอบการค้าและผู้ซื้อสินค้า
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เขตการเดินรถที่ 2 และเขตการเดินรถที่ 8 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซอยสวนสยาม 9 ถนนสวนสยาม จุดตรวจวัดควันดำรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถโดยสารประจำทาง บริเวณท่าปล่อยรถสาย 36ก 78ก 60 71 73 96 156 178 โดยเขตฯ ร่วมกับ ขสมก. ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตคันนายาว มีข้าราชการและบุคลากร 645 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกขยะเบื้องต้นก่อนนำไปทิ้งบริเวณจุดรับขยะรีไซเคิล รวมถึงแยกขยะพลาสติกเพื่อนำเข้าโครงการมือวิเศษกรุงเทพ 2.ขยะอินทรีย์ จัดถังขยะสำหรับใส่เฉพาะเศษอาหารให้กับทุกฝ่าย และตอนเย็นของทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะเศษอาหาร เพื่อนำมาเทบริเวณถังขยะรักษ์โลก ข้างแปลงผักฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 3.ขยะอันตราย มีจุดทิ้งขยะบริเวณชั้น 1 และบริเวณจุดพักขยะข้างแปลงผักฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่นำมาทิ้งตรงจุดที่จัดไว้ พนักงานเก็บขนมูลฝอยจะรวบรวมนำไปพักไว้ที่ลานจอดรถฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สวนป่า โซน 3 ซึ่งเป็นจุดรวบรวมขยะอันตราย ที่จัดเก็บจากบ้านเรือนประชาชนและสถานประกอบการ เพื่อรวบรวมนำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านจัดเก็บขยะทั่วไปแต่ละฝ่ายทุกวัน และนำมาทิ้งที่จุดพักขยะข้างแปลงผักฝ่ายรักษาความสะอาดฯ โดยรถเก็บขนมูลฝอยจะนำไปส่งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 6,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,100 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 75 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 55 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี การพิมพ์เอกสารจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ ทำงานด้วยความรอบคอบและโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่บ้านเก้าแสนเจ็ด ซอยสวนสยาม 16 ถนนสวนสยาม วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาชนรวบรวมขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้มาเทรวม เพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนแต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำไปจำหน่ายเอง และบางครัวเรือนคัดแยกและนำมาไว้ที่จุดคัดแยกขยะส่วนกลางของชุมชน 3.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์ ทุกวันพุธและวันเสาร์ 4.ขยะอันตราย ประชาชนแต่ละหลังคาเรือน จะคัดแยกขยะนำมาไว้ที่ส่วนกลางของชุมชน เขตฯ จัดเก็บพร้อมกับขยะทั่วไปและขยะชิ้นใหญ่
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายนพ ชูสอน ผู้อำนวยการเขตคันนายาว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคันนายาว สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล