Health & Beauty

เตือนภัยสุขภาพอิ๊วโซดาที่โซเชียลมีเดีย โดยรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ



กรุงเทพฯ-จากผลทางสุขภาพของอิ๊วโซดาที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย  จากการเชิญชวนให้ผู้บริโภคดื่ม ซีอิ๊วดำสูตร 1 ผสมกับโซดาหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ  โดยผสมซีอิ๊ว 3 ช้อนโต๊ะ กับโซดา 1 แก้วหรือเครื่องดื่ม 1 แก้ว นั้นทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย-สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย , ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสสส., ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม อดีตทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ,อ.จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส สถาบันสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ร่วมกันแสดงให้ความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1)ซีอิ้วดำ 3 ช้อนโต๊ะ ให้โซเดียมเท่าไร

ซีอิ๊วดำ 3ช้อนโต๊ะมีโซเดียม ประมาณ 650 มิลลิกรัมเท่ากับปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับตามคำแนะนำต่อ

อาหาร 1 มื้อ (ดังตาราง) และน้ำตาล 24 กรัมเท่ากับปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน และถ้าผสมกับเครื่องดื่มรสหวานหรือโซดาจะได้โซเดียมเพิ่มไปอีกเป็น 708-763 มิลลิกรัม และจะทำให้ได้รับน้ำตาลสูงขึ้นไปอีก

2)ถ้าดื่มเป็นประจำจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

ถ้าดื่มเครื่องดื่มนี้ที่มีทั้งรสชาติหวานและเค็มมากเป็นประจำ จะทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคไต โรคหัวใจและอัมพาตได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวานความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต จะทำให้โรคกำเริบได้

3)คนปกติก็ไม่ควรได้โซเดียมจากเครื่องดื่มเพราะปกติเราได้โซเดียมจากอาหารหลักมากเกินพออยู่แล้ว

และสถานการณ์การกินโซเดียมเกินของคนไทยเกือบ 2 เท่า เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้กินหวานและเค็มลดลง การขายสินค้าควรตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือ (โซเดียม) สูง 2-3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูงมีผลเสียทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง นอกจากนี้ยังทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จากข้อมูลล่าสุด พบว่าคนไทยเป็น

โรคความดันโลหิตสูง เป็น 21.4 % หรือ11.5 ล้านคน

โรคไตถึง 17.5% หรือ 7.6 ล้านคน

โรคหัวใจขาดเลือดเป็น1.4% หรือ 0.75 ล้านคน

โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็น 1.1 % หรือ 0.5 ล้านคน

คนไทยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม)ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ โดย

ร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร

แหล่งอาหารที่พบเกลือ (โซเดียม) สูง ได้แก่ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป

เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม

น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160 - 1,420 มิลลิกรัม

ซีอิ้วขาว  1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960 – 1,420  มิลลิกรัม

ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม

กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม

 ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม

โดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือ (โซเดียม) เป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุง รสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือ (โซเดียม) ในอาหารสูงมากตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ้ว  เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม ดังนั้นในเรื่องของการนำซีอิ้วดำ ซึ่งมีความเค็มอยู่แล้ว มาบริโภคร่วมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ นั้น จึงไม่มีความเหมาะสม โดยเด็กและเยาวชนหรือประชาชนทั่วไป ไม่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หากเด็กอายุ 6-14 ปี ดื่มในลักษณดังกล่าว จะมีโทษภัยต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลเป็นโรคฟัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคไตในอนาคต ดังนั้นในส่วนของผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนควรให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมถึงทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มขอความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ความรู้ไปยัง โรงเรียน ทุกระดับชั้นด้วย