In Bangkok

กทม.เล็งเพิ่มบริการตเวชรพ.สังกัดกทม. ตั้งเป้าอัปเกรดการแพทย์ฉุกเฉิน



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม.ร่วมผู้บริหารร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯสัญจรสำนักการแพทย์ เล็งเพิ่มบริการด้านจิตเวชในโรงพยาบาลสังกัดกทม. ตั้งเป้าอัปเกรดการแพทย์ฉุกเฉิน ใช้เทคโนโลยีช่วยพบหมอใกล้บ้าน 

(11 เม.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการแพทย์” โดยประชุมรับฟังรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย ณ ห้องประชุมแพทยพัฒน์ ชั้น 5 สำนักการแพทย์ (สนพ.) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  วันนี้ได้มาสัญจรที่สำนักการแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ในสำนักสำคัญที่เป็นเป้าหมายหลักในการทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยกรุงเทพมหานครเน้นในเรื่องของการสาธารณสุขและการศึกษา เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของประชากร

โดยสำนักการแพทย์เป็นสำนักหลักที่ได้งบประมาณของกทม.ปีละประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเรามีนโยบายหลายอย่างที่ต้องติดตาม มีโครงการหลัก ๆ ที่ดำเนินการอยู่ 6 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เพื่อดูแลคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเปิดคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย 6 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.สิรินธร และมีแผนเพิ่มอีก 2 โรงพยาบาล ในปี 2566 คือ รพ.คลองสามวา และ รพ.บางนากรุงเทพมหานคร ส่วนในปี 2567 มีแผนเพิ่มอีก 3 โรงพยาบาล คือ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ทั้งนี้ มีผู้รับบริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 - มีนาคม 2566 ทั้งสิ้น 1,107 ราย

โครงการที่ 2 หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine ซึ่งมีเป้าหมาย 82,000 ครั้ง (สนพ. 80,000 ครั้ง วชิรพยาบาล 2,000 ครั้ง) ผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566 มีคนใช้บริการแล้ว 33,338 ครั้ง ถือว่าได้รับความสำเร็จค่อนข้างดีในการใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยติดต่อแพทย์ได้สะดวก

โครงการที่ 3 เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง และศึกษาการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม ประกอบด้วย 4โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงพยาบาลในเขตสายไหมโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โครงก่อสร้างโรงพยาบาลตากสิน คาดว่าแล้วเสร็จปีหน้า โครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกลาง และอาคารสำนักการแพทย์ อยู่ระหว่างทำแบบ คาดว่าเริ่มประมูลได้ปีหน้า และโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างทำแบบ คาดว่าเริ่มปีหน้า

โครงการที่ 4 การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล ปัจจุบันสามารถรับส่งต่อได้ระหว่าง โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว

โครงการที่ 5 เพิ่มจำนวน Excellent Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง โดยปัจจุบัน สนพ.มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ จำนวน 8 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์จักษุวิทยา รพ.กลาง ศูนย์ผ่าตัดกระดูกและข้อ รพ.กลาง ศูนย์ศัลยกรรมโรคอ้วน รพ.กลาง ศูนย์ส่องกล้องและผ่าตัดผ่านกล้องระบบทางเดินอาหาร รพ.กลาง ศูนย์สมองและหลอดเลือดสมอง รพ.ตากสิน ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก รพ.ตากสิน ศูนย์ตรวจรักษาและผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รวมถึงมีเป้าหมายเพิ่มศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง 2566 เป็นศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลางหรือศูนย์ Intermediate Care (IMC) รับดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้นและฟื้นฟูผู้สูงอายุ ที่ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน

และโครงการที่ 6 บัตรคนพิการ จุดเดียวจบ ทุกโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยคนพิการสามารถมาที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง เพื่อตรวจประเมินความพิการ ออกใบรับรองความพิการ และออกบัตรประจำตัวคนพิการ ณ จุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ครอบคลุมทั่วถึง เท่าเทียมและสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องมาพิสูจน์ความพิการที่โรงพยาบาล แล้วค่อยไปรับบัตรที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) เหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีคนพิการมารับบริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 - มีนาคม 2566 ทั้งสิ้น 4,998 ราย

● มอบนโยบายเพิ่ม 3 เรื่อง: 1-เพิ่มบริการด้านจิตเวช 2-ดันการแพทย์ฉุกเฉินสู่ระดับแนวหน้า 3-อุปกรณ์ช่วยฉุกเฉินต้องครอบคลุม

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า  ส่วนนโยบายที่ให้เพิ่มเติมวันนี้ เรื่องแรกเกี่ยวกับ การเพิ่มการให้บริการด้านจิตเวช เนื่องจากปัจจุบันเราเห็นปัญหาเรื่องผู้ป่วยที่มีภาวะจิตเวชสูงขึ้นและการยังเข้าถึงแพทย์ได้ยาก ก็จะพัฒนาตรงนี้ให้ดีขึ้น นโยบายที่เพิ่มเรื่องที่ 2 คือ การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของศูนย์เอราวัณ มีมาตรฐานอยู่ที่ 8 นาที ที่รถพยาบาลต้องไปให้ถึงผู้ป่วย โดยได้ให้ปรับปรุงศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระดับสากลหรือเป็นระดับแนวหน้าที่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม 

ทั้งนี้ การเข้าถึงผู้ป่วยของศูนย์เอราวัณที่ผ่านมาอาจมีข้อขัดข้องในแง่ของระบบเทคโนโลยีอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจยังไม่มีความพร้อมในการให้บริการ บางครั้งมีช่องโหว่ในการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดระหว่างการส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงตำแหน่งจุดจอดของรถพยาบาลอาจเข้าถึงพื้นที่ไม่ได้ภายใน 8 นาที ต้องมาทบทวนระบบของศูนย์เอราวัณใหม่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยและมีอัตรากำลังที่เหมาะสม ตลอดจนมีการร่วมมือและการฝึกอาสาสมัครให้ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วย รวมถึงการให้งบประมาณในจุดนี้ยังไม่เพียงพอ ต้องปรับแผนดูภาพรวมใหญ่ และต้องทำเป้าหมายการเข้าถึงพื้นที่ภายใน 8 นาทีนี้ให้สำเร็จ

ส่วนนโยบายที่เพิ่มเรื่องที่ 3 คือ อุปกรณ์ช่วยฉุกเฉิน เช่น เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED ตามสวนสาธารณะหรือสถานที่ต่าง ๆ ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาให้ใช้งานได้ และต้องมีให้ครอบคลุมพื้นที่ด้วย

● กระจายการแพทย์สู่เส้นเลือดฝอย ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพบริการ

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  จากสิ่งที่ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวมาข้างต้น เรื่องที่เน้นจริง ๆ ก็คือนโยบายที่เน้นเส้นเลือดฝอย โดยเราพยายามกระจายคุณหมอให้อยู่ใกล้บ้านใกล้ใจ ให้ประชาชนสามารถพึ่งพิงระบบปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกเวชกรรม ได้ ซึ่งที่ผ่านมานั้น อาจจะดูเหมือนว่าระหว่างปฐมภูมิกับโรงพยาบาลซึ่งเป็นตติยภูมิของกรุงเทพมหานครแยกกัน แต่ตอนนี้ทางสำนักการแพทย์ซึ่งดูโรงพยาบาล ก็จะดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกที่อยู่ใกล้ ๆ บ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถพบแพทย์ได้ง่ายขึ้น ผ่านทั้งระบบเทคโนโลยี และทีมเชิงรุกที่จะเข้าไปสู่พื้นที่ชุมชนเพื่อให้บริการทางด้านสุขภาพ รวมถึงเรื่องที่อาจจะเป็นภาวะเครียด ทั้งทางด้านจิตใจและภาวะเครียดแบบเร่งด่วนที่ต้องการการตอบสนองทางการแพทย์ที่รวดเร็ว ก็จะมีการปรับปรุงคุณภาพของการเข้าถึง แล้วก็ทำให้ประชาชนสามารถรับบริการได้ทันเวลาที่ต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ เราจะพยายามทำให้การใช้เทคโนโลยีเข้าไปถึงที่บ้านได้ด้วย ซึ่งก็จะเป็นเฟสต่อไปที่ให้ทางสำนักการแพทย์ร่วมกับสำนักอนามัยดูแล เพื่อให้ประชาชนสามารถพบแพทย์ได้ทั้งแบบตัวเป็น ๆ แล้วก็ทั้งแบบผ่านเทคโนโลยี ซึ่งจะพยายามเร่งทำให้เร็วที่สุด

“หัวใจหลักของสำนักการแพทย์คือการนำเทคโนโลยีมาช่วย บุคลากรอาจจะเพิ่มได้ไม่มาก แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริม

● 19 รพ. จับมือเป็นแม่ข่าย Bangkok Health Zoning ยกระดับการแพทย์ สร้างความเข้มแข็งให้ปฐมภูมิและทุติยภูมิ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า  สิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาคือการพัฒนารูปแบบของ sandbox (ตัวต้นแบบโมเดล) ในปีนี้เราเริ่ม 2 sandbox ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล หลักการคือการทำบริการสาธารณสุขครบวงจรนั้นต้องมีโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่าย จากนั้นมีศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นหน่วยปฐมภูมิ รวมทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น หากสามารถสร้างรูปแบบที่เชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันได้จะทำให้การบริการสาธารณสุขครอบคลุม ซึ่ง 2 sandbox ดังกล่าวทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเตรียมยกระดับเป็น Bangkok Health Zoning ทั้งนี้กรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 6 โซน ในแต่ละโซนมีโรงพยาบาลที่รับผิดชอบเป็นแม่ข่าย มีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นลูกข่ายร่วมกับคลินิกอบอุ่นและร้านขายยา เป็นรูปแบบการกระจายการดูแลลงมาสู่ชุมชน ทำให้ประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขปฐมภูมิหรือระบบย่อยมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลใหญ่ทุกครั้ง ซึ่งเป็นการทำให้แต่ละโซนสามารถบูรณาการและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า  กรุงเทพมหานครแบ่งพื้นที่เป็น 6 โซน สำหรับ Bangkok Health Zoning ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี รวมถึงโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ศึกษา ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง ร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล รวมทั้งสิ้น 19 โรงพยาบาลในการดูแล 6 โซนนี้ โดยแบ่งออกเป็น 19 โซนย่อย ซึ่ง 19 โซนย่อยนั้นจะเชื่อมโยงระหว่างร้านขายยา อาสาสมัครสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น มีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็น Area Manager หรือเป็นผู้จัดการในพื้นที่ โดยมีพี่เลี้ยงเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ด้วย จุดนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วยในเรื่องของระบบบริการปฐมภูมิและทุติยภูมิในระดับของศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็น Area Manager ซึ่งสามารถให้บริการผู้ป่วยแบบผู้ป่วยนอก โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น

● เข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องรอคิวนาน ด้วยแอปฯ “หมอ กทม.”

รองปลัดฯ สุขสันต์ กล่าวถึงการพบแพทย์โดยไม่ต้องรอคิวนานว่า  ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์อยู่เป็นระยะ ประเด็นที่หนึ่ง แอปพลิเคชันนี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาโดยโทรเวชกรรม (Telemedicine) เป็นรักษาทางไกลถึงบ้านทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ประเด็นที่ 2 สามารถใช้แอปพลิเคชัน หมอ กทม. ในการนัดหมายพบแพทย์ โดยประชาชนสามารถรู้วันและเวลา ทำให้ไม่ต้องรอคิวนาน ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยลดระยะเวลารอคอยและเข้าถึงบริการได้ทันที

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า  หัวใจสำคัญคือหากสามารถสร้างความมั่นใจให้กับระบบเส้นเลือดฝอยและระบบปฐมภูมิ จะช่วยลดภาระโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้การรอคิวหรือนัดหมอง่ายขึ้น แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่สามารถจะแก้การกระจุกตัวผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลได้ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์บริการสาธารณสุขระดับย่อยให้เข้มแข็งด้วย ซึ่งต้องแก้อย่างครบวงจร โดยความร่วมมือของทั้งสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย

● สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/ข้อเสนอแนะ พร้อมส่งมอบกำลังใจ

ในวันเดียวกัน ก่อนการประชุมติดตามงาน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้แทนจากสำนักการแพทย์ จำนวน 5 คน ได้แก่ 1. นางสุขุมาล เนียมประดิษฐ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 2. นายธนกร จงเจษฎ์ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 3. นางสาวกนกวรรณ สุขมา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) 4. นางสาวเนตรนภา นมัสไธสง นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ กลุ่มงานการคลัง สำนักงานเลขานุการ และ 5. นายเจษฎา ฮึ่งฮก นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ กลุ่มงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ส่วนยุทธศาสตร์และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์

พร้อมได้พูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/อุปสรรคในการทำงาน รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ และให้กำลังใจในการทำงานแก่บุคลากร ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นนโยบายหนึ่ง ซึ่งตอกย้ำการให้ความสำคัญกับบุคลากรของหน่วยงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ