In Bangkok

กทม.ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง เพิกถอนค่าโดยสารสายสีเขียวเม.ย.นี้



กรุงเทพฯ-กทม.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองเพิกถอนประกาศกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวปลาย เม.ย.นี้

นายไทภัทร  ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงการดำเนินการของ กทม.ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศ กทม. เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว โดยพิจารณาว่า กทม.จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ ๒๖ พ.ย.๒๕๖๑ คือ ต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป ซึ่ง กทม.มีเหตุผลในการยื่นขออุทธรณ์ต่อศาล เนื่องจากตามข้อเท็จจริง มติ ครม.ดังกล่าวต้องการให้เกิดผลการคิดอัตราค่าโดยสารจากการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.รับผิดชอบกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ เพื่อตกลงอัตราค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนมากเกินไป ส่วนการออกประกาศค่าโดยสารที่เป็นประเด็นขอเพิกถอนในครั้งนี้เป็นการคิดอัตราค่าโดยสารเฉพาะสายสีเขียวระหว่างส่วนสัมปทานและส่วนต่อขยายที่ กทม.รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ออกประกาศค่าโดยสารและบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ประกาศ กทม.เมื่อวันที่ ๒๙ มี.ค.๒๕๖๐ เรื่อง ค่าโดยสารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ ๑ (ซอยสุขุมวิท ๘๕-๑๐๗) ระยะทาง ๕.๒๕ กม. และส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ ๒ (ตากสิน-เพชรเกษม) ระยะทาง ๕.๓ กม. อย่างไรก็ตาม กทม.จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองประมาณปลายเดือน เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า โดยร่วมเป็นคณะทำงานให้ความเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่ปรึกษาโครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เมื่อผลการศึกษาดังกล่าวแล้วเสร็จ กทม.จะนำผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ กทม.ได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทยแล้วว่า เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้การเดินรถเป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างต่อเนื่อง (Through Operation) และอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ ต่อไป