In Bangkok
ชูต้นแบบคัดแยกขยะที่รร.วัดลาดบัวขาว พร้อมติดตามจัดรายได้เขตสะพานสูง
กรุงเทพฯ-ชูต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนวัดลาดบัวขาว ส่องสวนสุวรรณพฤกษ์ ตรวจแยกขยะเขตสะพานสูง ติดตามระบบจัดเก็บรายได้ BMA-TAX สำรวจ Hawker Center เดอะพาซิโอทาวน์รามคำแหง คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างโรงพยาบาลรามคำแหง 2
(18 เม.ย. 66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสะพานสูง ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดลาดบัวขาว มีครูและบุคลากร 22 คน นักเรียน 444 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ นำไปให้อาหารสัตว์เลี้ยง ทำน้ำหมักชีวภาพ เลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ยหมัก 2.ขยะรีไซเคิล จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภายในโรงเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ เช่น กล่องนม ขวดพลาสติก นำขยะรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นของเล่นของใช้ภายในโรงเรียน จัดกิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิลในวันสำคัญทางศาสนาร่วมกับเขตฯ 3.ขยะทั่วไป รวบรวมในจุดทิ้งรอการจัดเก็บจากเขตฯ 4.ขยะอันตราย รวบรวมแยกไว้และแจ้งเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน
สำรวจสวน 15 นาที สวนสุวรรณพฤกษ์ ซอยรามคำแหง 118 แยก 67 พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 72.3 ตารางวา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะเดิม ที่เขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยยกระดับผิวดินภายในสวนให้สูงขึ้น เพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น พร้อมปูหญ้าสนามใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงสนามเด็กเล่นที่พื้นยุบตัว โดยเพิ่มระดับพื้นทรายให้สูงขึ้น รวมทั้งปลูกต้นไม้เพิ่มเติม โดยใช้ไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้หอม ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น 23 ต้น ไม้พุ่ม 1,005 ต้น และไม้เถา 90 ต้น นอกจากนี้ได้ปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพโดยรอบสวน เช่น การปรับพื้นทางเท้าที่ชำรุด ซ่อมแซมทาสีป้ายชื่อสวน และทาสีรั้วรอบสวน ตัดแต่งไม้ยืนต้นเดิม ลดความเสี่ยงโค่นล้ม และขุดย้ายไม้ทรงพุ่มบางส่วนที่เสียหายจากการเกิดน้ำท่วมขัง เพื่อเตรียมปลูกซ่อมแซม
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตสะพานสูง มีข้าราชการและบุคลากร 548 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทุกฝ่ายคัดแยกขยะและรวบรวมนำมาทิ้งบริเวณจุดแยกขยะรีไซเคิลที่กำหนด 2.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายคัดแยกขยะเศษอาหาร ก่อนทำความสะอาดภาชนะ โดยทิ้งในจุดที่กำหนดในห้องซักล้าง ไม่เทรวมกับขยะทั่วไปหรือขยะรีไซเคิล พนักงานทำความสะอาดรวบรวมขยะเศษอาหารที่คัดแยกแล้ว ส่งให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปทำปุ๋ยหมัก สำหรับใช้ในแปลงเกษตรปลอดสารพิษ 3.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ รับผิดชอบในการนำขยะอันตรายไปทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะ โดยจัดตั้งถังรองรับขยะอันตรายจากประชาชนที่นำมาทิ้ง และการจัดเก็บจากบ้านเรือนประชาชน 4.ขยะทั่วไป ประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายจัดถังรองรับขยะทั่วไป และให้พนักงานทำความสะอาดรวบรวมไปทิ้งที่จุดรวมขยะทั่วไปที่กำหนด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 45,365 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 41,317 แห่ง ห้องชุด 2,489 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 89,171 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การประเมินภาษีปี 2566 และการจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนด
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณศูนย์การค้าเดอะพาซิโอทาวน์ รามคำแหง ซึ่งเขตฯ ได้ประสานทางศูนย์การค้าฯ เพื่อนำผู้ค้าบริเวณถนนราษฎร์พัฒนา (ตลาดลาว) เข้าไปทำการค้าบริเวณลานจอดรถหน้าศูนย์การค้าฯ ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ซึ่งผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะพาซิโอทาวน์ พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า จัดทำเป็น Hawker Center ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับผู้ค้า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงสำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ประกอบการค้าและผู้ซื้อสินค้า
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลรามคำแหง 2 ซอยรามคำแหง 162 ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทโรงงาน 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง ประเภทอู่รถสองแถว 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวเสาวลักษณ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล