Travel Sport & Soft Power
เรื่องดีดีประเพณีทำบุญข้าวหลามการสู่ขวัญลานข้าวชาวลาวพวน
ปราจีนบุรี-ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมายาวนาน รุ่นสู่รุ่น ของ พี่น้องชาวไทยเชื้อสายลาวพวน อ.ศรีมโหสถ ได้นำของดีท้องถิ่นมาเผยแพร่ ใน เทศกาลมาฆะปูรมีศรีปราจีน กลางเดือน 3 ที่ โบราณสถานวัดสระมรกต
นายมานิตย์ สนับบุญ ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีเรื่องราวดีดี เกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมายาวนาน รุ่นสู่รุ่น ของ พี่น้องชาวไทยเชื้อสายลาวพวน อ.ศรีมโหสถ ที่ได้นำของดีท้องถิ่นมาเผยแพร่ ใน เทศกาลมาฆะปูรมีศรีปราจีน กลางเดือน 3 ที่ โบราณสถานวัดสระมรกต ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
อันเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวปราจีนบุรี และใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ในการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาหลากหลาย อาทิ การเวียนเทียนรอบรอบพระพุทธบาทคู่ ยุคทวารวดี อายุมากกว่า 1,500 ปี ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในอาเซี่ยน ในวันมาฆะบูชา เพื่อให้ละชั่ว ทำแต่ความดี ทำใจให้บริสุทธิ์ การจัดส่งเสริมการท่องเที่ยว ชมแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ อาทิ ชมเมืองศรีมโหสถ , เที่ยววัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ในการนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เก่าแก่ที่สุดอายุมากกว่า 2,500ปี ต้นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ นำหน่อมาจากเมืองพุทธคา ประเทศอินเดีย การร่วมทำบุญ - ปฏิบัติธรรม กับ ขบวนพระธุดงค์กว่า 250 รูป ที่เดินเท้าในหลายอำเภอ เพื่อมาร่วมปฏิบัติธรรม ฟังโอวาทปาฏิโมกข์ – เวียนเทียนรอบรอยพระพุทธบาทคู่ใน วันมาฆะบูชา
และ พบมีอีก 1 กิจกรรมที่ ชาว อ.ศรีมโหสถ ได้จัดสอดแทรกกิจกรรมเอกลักษณ์ท้องถิ่น ขึ้นเป็นปีแรก แสดงถึงภูมิปัญญาทางอาหารการกิน และ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ไม่ให้สูญหายไปจากท้องถิ่นอย่างหนึ่งคือ การทำบุญข้าวหลามเดือนสาม และ ประเพณีการจัดสู่ขวัญลานข้าว ของชาวลาวพวน อ.ศรีมโหสถ ในการขอขมาพระแม่โพสพ – สร้างขวัญเกษตรกรชาวนา ขึ้น
โดยทำการแสดงนิทรรศการ ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว นักเรียน – นักศึกษา และ ประชาชน ทั้งการนำข้าวหลาม – ชาวบ้าน ที่มีอาชีพทำนา หลังนาข้าวเสร็จมาทำการเผาข้าวหลามขาย , เกษตรกรผู้ทำนาข้าว ที่เรียกขวัญข้าวช่วงกำลังตั้งท้อง,ช่วงขึ้นลานหลังการเก็บเกี่ยว มาแสดงให้เห็นของจริง – เรียนรู้วิถีภูมิปัญญา ในการบุญเผาข้าวหลามเดือนสาม และ สู่ขวัญลานข้าว เป็นอาหาร – สร้างอาชีพ ประเพณีแต่ละท้องถิ่นการทำขวัญลานข้าว สร้างขวัญ-กำลังใจของชาวนาในท้องถิ่น การขอขมาต่อพระแม่โพสพ ที่ได้เหยียบย่ำ ทุ๊บตี
นางรัชนี หรือ เปิ้ล เทียบแก้ว ชาวไทยเชื้อสายลาวพวน อ.ศรีมโหสถ / รองประธานหอการค้า จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า งานบุญข้าวหลามเดือนสาม นั้น ตนเองเห็น – กินข้าวหลาม มาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเฉพาะในพื้นถิ่น อ.ศรีมโหสถ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวลาวพวน ที่ถูกกวาดต้อน – อพยพมาจากประเทศลาว สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิม – ภูมิปัญญาต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่นสืบต่อเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น
มาแสดงวิถีชีวิตในงานเทศกาลมาฆะปูรมีศรีปราจีน ที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด -19 การท่องเที่ยว – เศรษฐกิจชุมนเงียบเหงาซบเซา เมื่อเปิดเมืองศรีมโหสถจัดเทศกาลมาฆะปูรมีศรีปราจีน ดังกล่าว จึงร่วมกับทาง อ.ศรีมโหสถ ททท.ภาคกลาง(นครนายก) ในการจัดส่งเสริมประเพณี ทำบุญข้าวหลาม – การสู่ขวัญลานข้าว นี้ขึ้น
และได้ขอเอการข้อมูลจากสุจิตต์ วงษ์เทศ กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เจ้าของคอลัมน์ "สยามประเทศไทย" และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่เป็นชาว อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี โดยกำเนิด พร้อม ได้นำเอกลักษณ์ท้องถิ่นของคนพื้นถิ่น ชาวลาวพวนมาจัดแสดงในงาน อันเป็นการอนุรักษ์ประเพณีบุญข้าวหลามให้อยู่คู่กับ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี และ สร้างเศรษฐกิจชาวบ้านให้นานเท่านาน
โดยการทำบุญข้าวหลามนี้ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายลาวพวน และชาว จ.ปราจีนบุรี ที่มีรูปแบบคล้ายคลึง-ไม่แตกต่างกันมากนัก กับ ชุมชนภาคอิสาน แต่มีลักษณะเฉพาะแต่ละท้องถิ่น คือ มีการเผาข้าวหลามกันอย่างพร้อมเพรียงกัน ในแต่ละหลังคาเรือน ในการทำบุญเดือน 3
ประเพณีนี้ จะมีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 หรือ วันมาฆะบูชา ของทุกปี เหตุที่ถวายข้าวหลามนั้น อาจเป็นเพราะเดือน 3 เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จึงนำข้าวอันเป็นพืชหลักของตนที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก ซึ่งเรียกว่าข้าวใหม่ จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมาก นำมาทำเป็นอาหาร โดยใช้ไม้ไผ่สีสุกเป็นวัสดุประกอบในการเผา เพื่อทำให้ข้าวสุก เรียกว่า “ข้าวหลาม” เพื่อนำไปถวายพระภิกษุ
การเผาข้าวหลาม ชาวบ้านจะเริ่มเผาในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 โดยชาวบ้านจะออกไปหาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่มากในหมู่บ้านมาทำกระบอกข้าวหลาม ซึ่งจะต้องเลือกลำไผ่ที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป ไม่มีตามด เพราะตามดจะทำให้มีกลิ่นเหม็นและไม่มีเยื่อ ทำให้ข้าวติดกระบอก ความยาวของปล้องไม้ไผ่ ห่างพอควร ยาวประมาณ 18 นิ้ว
นำไม้ไผ่ทั้งลำมาตัด หรือเลื่อยเป็นท่อน ๆ โดยมีข้อต่อที่ก้นกระบอก จากนั้นนำ “ข้าวเหนียว” ที่มีกะทิผสมเรียบร้อยแล้ว ใส่กระบอกนำไปเผาไฟที่ลานบ้าน โดยขุดดินเป็นรางตื้น ๆ เป็นที่ตั้งกระบอกข้าวหลาม รอบ ๆ แถวข้าวหลามก่อกองไฟขนานไปกับข้าวหลาม บางบ้านใช้ต้นไม้ที่ตายแล้วทั้งต้นมาเป็นเชื้อเพลิง
เมื่อเผาข้าวหลามเสร็จแล้ว ก็จะนำมาแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่บ้านข้างเคียง เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านจะนำข้าวหลาม ขนมจีนไปทำบุญที่วัด การทำบุญข้าวหลามของชาว “ลาวพวน”ยังคงทำกันตามประเพณีดั้งเดิม
ดังนั้นในวันทำบุญข้าวหลาม วัดต่าง ๆ จะเต็มไปด้วยข้าวหลาม ซึ่งนอกจากเป็นอาหารถวายพระภิกษุสงฆ์แล้ว ที่เหลือชาวบ้านก็จะนำมาแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่ทุกคนในบ้านได้กินกันอย่างทั่วถึงดังกล่าว
ประเพณีนี้ เป็นสิ่งที่แสดงถึง ความสามัคคีและความเอื้ออาทร ที่ชาวบ้านมีต่อกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ควรรักษาสืบทอดให้อยู่คู่ไทยตลอดไป” นางรชนี หรือเปิ้ล กล่าว
และกล่าวต่อไปว่า สำหรับ ประเพณีสู่ขวัญข้าว สืบเนื่องจากอาชีพดั้งเดิมนั้นชาวลาวพวน อ.ศรีมโหสถ เป็นเกษตรกรชาวนา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ โดยการขอขมา ที่ได้เหยียบย่ำ ทุบ ตี ข้าว ระหว่าง การนวดข้าว และ เพื่อเป็นสิริมงคล สร้างขวัญกำลังใจ ในการทำนาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
และถือว่า เมื่อทำแล้วจะทำให้มีความโชคดีในการทำนา ไม่มีอุปสรรคใดๆ มีผลผลิตงอกงาม อันจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ มีข้าวเหลือกินเหลือใช้ไม่หมดไปจากยุ้งฉาง และเพื่อให้ประชาชนทั่วไป เด็กและเยาวชน ได้มีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้อยู่กับชุมชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความเสียสละ และความสามัคคีในชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน
ทั้งนี้ ในพิธีการทำขวัญลาน , การเรียกขวัญข้าว หรือ การสู่ขวัญข้าว ของพื้นที่ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรีดั้งเดิมนั้น การทำขวัญลาน นิยมทำกันตอนที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ขนข้าวมากองล้อมไว้ที่ลาน แล้วเจ้าของข้าว จะใช้พานใสดอกไม้ไม้ธูปเทียน เดินไปกู่ร้องเรียกขวัญข้าวให้ทั่วนาดัง ๆ เชิญขวัญเอาไปกับฟ่อนข้าวให้มีน้ำหนัก ให้ข้าวไม่มีลีบ ให้ได้เมล็ดมาก ๆ
การกู่เรียกขวัญ ก็พูดแต่ในทางที่ดีดี เสร็จแล้วก็จะนำขวัญข้าวนั้นมาที่ลานข้าว ที่ลอมข้าว จะทำธงสีต่าง ๆ ปักให้สวยงาม มีขนมต้มแดง ต้มขาว ขนมปลากริมไข่เต่า เอาไปสังเวย และนิยมทำกันในตอนเย็น ๆ
ส่วน การเรียกขวัญข้าว พิธีจะทำตอนที่ต้อนข้าวเริ่มตั้งท้อง คือระยะหลังสารทไทย และ จะต้องทำในวันศุกร์ จะเป็นตอนไหนก็ได้ แต่ส่วนมากผู้ที่จะไปเรียกขวัญข้าว ก็มีกระยาสารท น้ำอบ น้ำหอม โดยเฉพาะพวกส้ม ให้ใช้หลาย ๆ อย่าง เพราะว่า แม่โพสพกำลังตั้งท้อง ต้องรับประทานส้ม พวกเครื่องแต่งตัวใส่ถาด พวกส้ม ผลไม้ต่าง ๆ ขนมใส่ชะลอม นำไปให้ถึงบริเวณนาข้าว แล้วเอาชะลอมผูกติดไม้ปักไว้ พวกเครื่องแต่งตัววางไว้ใกล้ ๆ และกล่าวพรรณนาแต่ในทางที่ดีดี ที่จะทำให้ต้นข้าวงอกงาม ได้รวงดี ได้ข้าวดี ตอนสุดท้ายก็ให้กล่าวดังนี้
แม่พระโพสี แม่พระโพสพ แม่นบดารา แม่จันเทวี แม่ศรีสุดา ขอเชิญแม่มารับเครื่องสังเวย ใช้เวลาพอสมควรแล้วก็กลับ โดยเอาชะลอมปักไว้ที่นานั้นและกล่าวอำลา โดยบอกว่า ... เมื่อแม่พระโพสพ รับประทานและแต่งตัวแล้ว ก็จะขอลากลับ ... เป็นอันเสร็จพิธี
นางนฤมล แม่ค้าขายข้าวหลาม กล่าวว่า มีอาชีพเผาข้าวหลามขาย โดยหลังการเผานำใส่ไว้บนรถ จยย.พ่วงข้าง ที่พ่วงข้างจะทำรางเหล็กยาวใส่ถ่านให้ข้าวหลามอุ่นตลอด นำไปจำหน่ายให้ลูกค้าทุก ๆ วัน โดยขุดขายหลักหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ปราจีนบุรี (ธกส.) แต่เดิมขายดีวันละ 10 กก. ขายกระบอกละ25 – 35 บาท แต่ปัจจุบัน ลดลงจากเศรษฐกิจ หลังผลกระทบสถานการณ์โควิด -19 สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ นางนฤมลกล่าว
ขณะ นายสมร แสนโครต อายุ 56 ปี พ่อค้าขายข้าวหลาม มาจากหมู่บ้านโคกมอญ อ.ศรีมโหสถ กล่าวว่า ปกติมีอาชีพทำนา แต่หลังจากหมดช่วงทำนาทำข้าวหลามใส่กระบุงหาบขายตามตลาดนัด – ชุมชน วันละ 1 ถังครึ่ง ช่วยเสริมรายได้แก่ครอบครัว นายสมร กล่าว
มานิตย์ สนับบุญ / ปราจีนบุรี