In Bangkok

กทม.เร่งงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ใช้แผนปี2564-70ตั้งกก.36คนลุย3ระยะ



กรุงเทพฯ-(20 เม.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะประธาน ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ 3 เรื่อง ดังนี้  เรื่องที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบและประกาศใช้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และมีความสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570  เรื่องที่ 2 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 - 2570 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในระดับกรุงเทพมหานครและระดับสำนักงานเขต เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นหน่วยเผชิญเหตุเมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งที่ 46/2566 ลงวันที่ 6 มกราคม 2566 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการ ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นรองผู้อำนวยการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 36 คน เป็นกรรมการ โดยผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ  เรื่องที่ 3 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 - 2570 กําหนดให้มีการขับเคลื่ยนแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการสาธารณภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมทั้งระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และเมื่อภัยยุติ  ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ จึงได้เชิญคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครประชุมในวันนี้

จากนั้น ที่ประชุมได้แจ้งถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ พร้อมรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อาทิ จัดทำและพิจารณาแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยของกรุงเทพมหานคร หรือแผนเผชิญเหตุตามประเภทความเสี่ยงภัย ให้มีความสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร โดยในปีที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2565 สำหรับให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 6 แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัย ได้แก่ จากอัคคีภัย จากอุทกภัย จากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม จากสารเคมีและวัตถุอันตราย จากคมนาคมและขนส่ง และจากภัยแล้ง

แต่ในปีนี้ ยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่ประชุมจึงได้ร่วมพิจารณาในหลักการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ โดยเห็นชอบให้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 - 2570 ฉบับล่าสุด ซึ่งได้กำหนดสาธารณภัย จำนวน 9 ภัย ได้แก่ ภัยจากคมนาคม ภัยจากอัคคีภัย ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ภัยจากอุทกภัย ภัยจากภัยแล้ง ภัยจากมลพิษทางอากาศประเภท PM2.5 ภัยจากโรคระบาดและโรคติดต่อ และภัยจากวาตภัย พร้อมเห็นชอบให้ สปภ. จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ ตามประเภทสาธารณภัยทั้ง 9 โดยให้ประกอบด้วยเนื้อหาดังนี้ ข้อมูลพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร สถานการณ์ของภัย การแบ่งมอบหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ การเตรียมความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน การสนับสนุน ภาคผนวก และเพิ่มในเรื่องของการป้องกันภัยด้วย

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เร่งติดตามงานเพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ อาทิ คลังอุปกรณ์และทรัพยากรของกรุงเทพมหานคร ระบบข้อมูลคลังทรัพยากรฉุกเฉินที่ใช้ช่วยเหลือประชาชน การอัปเดตไฟล์ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) MOU ประปาหัวแดง QR Code ประจำถังน้ำดับเพลิง การทำแผนเผชิญเหตุชุมชนให้มีข้อมูลของชุมชนมากขึ้นและมีการซ้อมในพื้นที่ชุมชนตามแผนที่วางไว้ พร้อมแจ้งความคืบหน้าเรื่อง การอบรมผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ในเรื่องของการบัญชาการเหตุการณ์ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2566 

ในวันนี้มี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการฯ ซึ่งมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายในสังกัดกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายนอก ร่วมประชุม