In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่พระนครจัดระเบียบผู้ค้า ตรวจคัดแยกขยะเขตดุสิตดูจัดเก็บรายได้



กรุงเทพฯ-ลุยจัดระเบียบผู้ค้าถนนข้าวสารเขตพระนคร ตรวจคัดแยกขยะเขตดุสิต เตรียมพร้อมระบบจัดเก็บรายได้ BMA-TAX ชมคัดแยกขยะชุมชนพระยาประสิทธิ์ ส่องสวน 15 นาทีสวนหย่อมแยก ปตอ. 

(21 เม.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระนคร และเขตดุสิต ประกอบด้วย 

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนข้าวสาร เขตพระนคร เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 991 ราย ดังนี้ 1.ถนนข้าวสาร ตั้งแต่ถนนจักรพงษ์ถึงถนนตะนาว เวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. ผู้ค้า 197 ราย 2.ถนนพาหุรัด-ตรีเพชร ตั้งแต่ถนนตรีเพชรถึงถนนจักรเพชร เวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 222 ราย 3.ถนนพาหุรัด-ฝั่งห้างไชน่าเวิลด์ ตั้งแต่ถนนพาหุรัดถึงถนนบูรพาภิรมย์ เวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 48 ราย 4.ถนนตานี ตั้งแต่ถนนตานีตัดถนนจักรพงษ์ถึงถนนสิบสามห้าง เวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 228 ราย 5.ถนนไกรสีห์ (เช้า) ตั้งแต่ถนนไกรสีห์ถึงถนนสิบสามห้าง เวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. ผู้ค้า 53 ราย ถนนไกรสีห์ (กลางวัน) ตั้งแต่ถนนไกรสีห์ถึงถนนสิบสามห้าง เวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 171 ราย 6.ถนนแพร่งนรา ตั้งแต่ถนนอัษฎางค์ถึงถนนตะนาว เวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. ผู้ค้า 16 ราย 7.ถนนสามเสน ตั้งแต่แยกเทเวศร์ถึงถนนสามเสน ซอย 2 เวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ผู้ค้า 13 ราย 8.ถนนอัษฎางค์ ตั้งแต่ถนนพระพิทักษ์ถึงถนนเจริญกรุง เวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 43 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 50 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,158 ราย 

ที่ผ่านมาเขตฯ ได้เชิญผู้ค้าบริเวณถนนข้าวสารมาประชุมเพื่อรับทราบแนวทางและทำความเข้าใจ เรื่องการตรวจตราตามประกาศกรุงเทพมหานคร คำสั่งระงับสิทธิเข้าทำการค้าในพื้นที่ทำการค้า คำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเข้าทำการค้าในพื้นที่ทำการค้า และการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าตามประกาศกรุงเทพมหานคร รวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้า การขายและจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน ย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในส่วนของคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเข้าทำการค้าในพื้นที่ทำการค้านั้น หากผู้ทำการค้าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทำการค้าในพื้นที่ทำการค้าที่กำหนดไว้ ผู้ทำการค้าสามารถชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านแบบตรวจฯ ได้ภายใน 3 วัน หากพ้นกำหนดจะถือว่าได้กระทำการฝ่าฝืน ผู้ทำการค้ามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อสำนักงานเขตได้ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนข้าวสาร เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกรุงเทพมหานคร และประชาชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับความสะดวกและมีความปลอดภัย กรุงเทพฯ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตดุสิต มีข้าราชการและบุคลากร 825 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แยกประเภทขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ โลหะ ร่วมกิจกรรมธนาคารขยะ 2.ขยะอินทรีย์ มีถังแยกเศษอาหาร และนำมาทิ้งที่จุดรวม 3.ขยะอันตราย นัดทิ้งนัดเก็บทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน 4.ขยะทั่วไป ทิ้งที่จุดทิ้งขยะเพื่อรอการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 276 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 235 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 38 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/วัน 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 7,405 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 30,827 แห่ง ห้องชุด 1,468 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 39,700 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูล การแก้ไขข้อมูล และการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องครบถ้วนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนพระยาประสิทธิ์ มีพื้นที่ 7 ไร่ ประชากร 702 คน บ้านเรือน 163 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ การคัดแยกขยะอินทรีย์จากเศษอาหาร เพื่อนำมาหมักทำปุ๋ยและทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำมาสร้างรายได้และนำกลับมาใช้ประโยชน์ 3.ขยะทั่วไป กิจกรรมคัดแยกที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ซองกาแฟ ทำเป็นกระเป๋า กล่องใส่ของ ซองผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม นำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ 4.ขยะอันตราย นัดทิ้งนัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,100 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 900 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน 

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมแยก ปตอ. ถนนประชาราษฎร์สาย 1 พื้นที่ 1 ไร่ เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ฟื้นฟูบำรุงรักษาสภาพต้นไม้ให้ร่มรื่นสวยงาม ในรูปแบบสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายแก่ประชาชนในพื้นที่ 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร นางสาวรุจิรา อารินทร์ ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตพระนคร เขตดุสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล