In Bangkok
กทม.จี้กฟน.ปรับทางเท้าข้างสวนลุมพินี พร้อมใช้มาตรฐานจัดทำทางเท้าใหม่
กรุงเทพฯ-นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตทางเท้าริมถนนพระราม 4 ข้างสวนลุมพินี แผ่นปูทางเท้าแตกชำรุด บางจุดคับแคบว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบทางเท้าริมถนนพระราม ๔ ข้างสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา ปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินบริเวณใต้ทางเท้ารอบสวนลุมพินี โดยมีป้ายชี้แจงให้ข้อมูลโครงการติดอยู่บริเวณทางเท้า อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยนำปูนซีเมนต์มาปิดทับบริเวณที่ชำรุดเป็นการซ่อมแซมชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรบนทางเท้าได้โดยสะดวก
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ทางเท้าบริเวณถนนรอบสวนลุมพินี โดยเฉพาะด้านฝั่งถนนพระรามที่ ๔ และบริเวณถนนลาดพร้าวหน้าปากซอย ๔ กรุงเทพมหานครได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กฟน.ก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินในโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ กฟน.จะต้องก่อสร้างคืนสภาพทางเท้าและผิวจราจรใหม่ให้เรียบร้อยสวยงามตามแบบมาตรฐานของ กทม. ทั้งนี้ สนย.ได้ประสาน กฟน.ตรวจสอบ พร้อมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของทางเท้าบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยสวยงามและไม่เป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมาแล้ว
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานการจัดทำทางเท้าของ กทม. สนย.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแบบมาตรฐานงานทางกรุงเทพมหานครและรายการมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อปรับปรุงแก้ไขแบบฯ ทั้งฉบับ ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพการก่อสร้างในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ศึกษามาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้พิการมาปรับปรุงรูปแบบมาตรฐานทางเท้า โดยแบบมาตรฐานทางเท้าใหม่จะลดระดับคันหินลงจากเดิมสูง ๑๘.๕ เซนติเมตร (ซม.) เป็นสูง ๑๐ ซม. เพื่อลดความยาวของลาดทางเท้าและปรับปรุงทางลาดทางเชื่อมให้ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้พิการสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานสำหรับทุกคนในสังคม ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงโครงสร้างของชั้นพื้นฐานทางเท้าจากเดิม ประกอบด้วย ชั้นคอนกรีตหยาบหนา ๕ ซม. เปลี่ยนเป็นพื้นฐานทางเท้าคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา ๑๐ ซม. เพื่อลดการทรุดตัวและเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้า และปูผิวทางเท้าโดยใช้กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น หรือแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลายบดอัดแน่น เพื่อเพิ่มความสวยงามและความคงทน รวมทั้งจัดทำรูปแบบการวางสัญลักษณ์การติดตั้ง Braille Block ผู้พิการทางสายตาให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบแบบมาตรฐานทางเท้าและได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานของ กทม.นำไปใช้ปรับปรุงทางเท้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว