Health & Beauty
'มินเทล'เผยเทรนด์ผู้บริโภคหลังโควิด หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวป้องกันมากขึ้น
กรุงเทพฯ ประเทศไทย มีนาคม 2566) ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ความงามในประเทศไทยได้เปลี่ยนความสนใจจากผลิตภัณฑ์แก้ปัญหา มาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เชิงป้องกันมากขึ้นในช่วงหลังการระบาดสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต้องพิสูจน์ให้ผู้บริโภค Gen Z เชื่อได้ว่าการป้องกันนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาผิวของพวกเขา รายงานฉบับล่าสุดจากมินเทล บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านข้อมูลการตลาด พบว่าผู้บริโภคเกือบหนึ่งในสี่คน (23%) ของกลุ่มตัวอย่างนี้เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการจ่ายเงินเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นการสิ้นเปลืองเงินไปเปล่า ๆ
ในช่วงการระบาด ผู้บริโภคให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาผิวพรรณ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสวมหน้ากากอนามัย ในปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนมากกำลังมองหาวิธีที่จะป้องกันผิวของพวกเขาก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น รายงานจากมินเทลได้สำรวจลำดับความสำคัญของการดูแลผิวในกลุ่มผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย
Gen X: การดูแลป้องกันสัญญาณแห่งวัยและผิวหมองคล้ำคือสิ่งที่ผู้บริโภคอายุ 42-57 ปี ให้ความสำคัญ พวกเขาสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณช่วยแก้ปัญหาความหมองคล้ำ (64%) ริ้วรอยแห่งวัย (62%) และ จุดด่างดำ (60%)
มินเลนเนียล: ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเหมือนกับทั้งกลุ่ม Gen Z และ Gen X ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะมีอายุใกล้กลุ่มไหนมากกว่ากัน กลุ่มมินเลนเนียลอายุ 26-32 ปี นั้นมีความกังวลเกี่ยวกับสิวมากที่สุด (56%) และกลุ่มมินเลนเนียลอายุ 33-41 ปี มีความกังวลเกี่ยวกับริ้วรอยร่องลึกและรูขุมขนกว้าง (45% ตามลำดับ)
Gen Z: สิวและปัญหาที่เกี่ยวกับสิวเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ผู้บริโภค Gen Z อายุ 18-24 ปี กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระชับรูขุมขน (57%) ควบคุมความมัน (52%) และ ลดรอยแดง (37%)
แม้ว่าผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และ มิลเลนเนียล กำลังให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ความงามเชิงป้องกันมากขึ้น ตลาดความงามยังคงเจอกับอุปสรรคบางประการในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มตลาดสำหรับ Gen Z ซึ่งรวมถึงการทำความเข้าใจบทบาทของการดูแลเชิงป้องกัน ค่าใช้จ่าย และการศึกษาผลิตภัณฑ์
การที่ผู้บริโภครุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเชิงป้องกัน ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเลือกที่จะจ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ การขาดความเชี่ยวชาญในการใช้ผลิตภัณฑ์ความงามยังทำให้ผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 4 (24%) พบเจอกับความยุ่งยากในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีตัวเลือกมากมาย และผู้บริโภคปริมาณใกล้เคียงกัน (26%) เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการรับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนเหมาะสมกับผิวของพวกเขานั้นเป็นเรื่องยาก
คุณ สิริณา ปุปผชาติ นักวิเคราะห์ตลาดความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ของมินเทลประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ข้อมูลที่พบชี้ให้เห็นว่าในด้านของความงาม ผู้บริโภคในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากการใช้ความคิดแบบเร่งด่วนที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในช่วงวิกฤต มาเป็นการวางแผนเพื่ออนาคตและคิดอะไรเป็นระยะยาวมากขึ้นกว่าเดิม และนี่จะเป็นส่วนที่ผลิตภัณฑ์เชิงป้องกันจะได้รับความนิยมมากขึ้น
“ความกังวลด้านปัญหาผิวพรรณของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความแตกต่างของมุมมองที่แต่ละกลุ่มมีต่อผลิตภัณฑ์ความงามเชิงป้องกันและโอกาสทางการตลาด ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภค Gen X นั้นให้ความสำคัญกับการป้องกันมากที่สุด งานวิจัยของเราพบว่าผู้บริโภคมากกว่า 60% มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีการสื่อสารถึงการชะลอวัยผ่านคำว่า ‘Anti’ และพวกเขายังยอมรับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน มีหลายขั้นตอน รวมถึงการใช้อุปกรณ์ในการดูแลผิวพรรณอีกด้วย
“ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลก็มีความสนใจในการป้องกันเช่นกัน แต่แบรนด์ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายนั้นอยู่ในช่วงอายุใด เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความหลากหลายสูง ผู้บริโภคมินเลนเนียลที่อายุน้อยมีการดูแลผิวและมีแรงกระตุ้นในการดูแลผิวในระดับสูง ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาเห็นว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสามารถช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาต้องใช้กรรมวิธีเสริมความงามจากภายนอกเช่นการฉีดโบท็อกซ์ในอนาคต
“กลุ่มผู้บริโภค Gen Z นั้นถือเป็นโอกาสที่ใหญ่ที่สุดในตลาดความงามเชิงป้องกัน แบรนด์ต้องทำให้พวกเขาเชื่อว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ความงามเชิงป้องกันนั้นมีความคุ้มค่า การพัฒนาประสบการณ์การใช้งานผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเชิงป้องกันเพื่อดึงดูดผู้บริโภค Gen Z รวมถึงการให้ความรู้ว่าการป้องกันนั้นสามารถช่วยให้พวกเขาประหยัดทั้งเงินและเวลา อาจเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับแบรนด์ในระยะยาว”
นอกเหนือจากแนวโน้มด้านอายุแล้ว งานวิจัยจากมินเทลยังพบว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์ป้องกันเป็นสองผลิตภัณฑ์หลักที่ผู้บริโภคในประเทศไทยใช้สำหรับการป้องกันปัญหาผิวพรรณ โดยผู้บริโภคจำนวนมากกว่าครึ่งบอกว่าพวกเขากำลังใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว (53% และ 52% ตามลำดับ)
หากจะพูดถึงอิทธิพลภายนอกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญนั้นถือเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ คำแนะนำจากแพทย์ผิวหนัง (46%) รีวิวจากลูกค้าออนไลน์ (43%) และ การรับรองจากหน่วยงานวิจัย (38%) ได้รับการอ้างอิงว่าเป็นแหล่งอิทธิพลสามอันดับแรกที่ทำให้การแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ