In Bangkok
ถกปัญหาเพื่อตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
กรุงเทพฯ-(25 เม.ย. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยมี นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ กรมควบคุมโรค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการตำรวจนครบาล บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมประชุม
เนื่องด้วยข้อมูลที่ผ่านมาจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนกว่าร้อยละ 50 เกิดจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีการตัดสินใจรวมถึงมีการตอบสนองช้ากว่าปกติและมักจะไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น กรมควบคุมโรคจึงร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยการดำเนินคดีขั้นสูงสุดกับผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุและมีระดับแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ซึ่งการที่ผู้ขับขี่เหล่านี้มีถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนเกิดอุบัติเหตุและหลังเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิต ที่เกิดจากการดื่มแล้วขับลดลง ทำให้ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมาก
ที่ประชุมได้กล่าวถึงปัญหาในปัจจุบันซึ่งยังไม่มีกฎหมายบังคับให้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนทุกราย เว้นแต่มีใบนำส่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้โรงพยาบาลทำการตรวจวัด จากข้อเท็จจริงดังกล่าว รองปลัดฯ สุขสันต์ จึงได้เสนอที่ประชุมหารือใน 3 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขและหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. เรื่องกฎหมาย เพื่อพิจารณากฎหมายที่ขอความร่วมมือหรือบังคับให้สถานพยาบาลทุกระดับตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนทุกรายไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ขับขี่ 2. ค่าใช้จ่ายในการตรวจวัด เพื่อเป็นแนวทางเดียวกันว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว และ 3. ระบบ IT เพื่อลดการใช้กระดาษ (paperless) และเพื่อการทำงานแบบไร้รอยต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของรองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า กทม.พร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้าน ทั้งเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาระบบกล้อง CCTV รวมถึงระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดกทม.ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกกรณีอุบัติเหตุทางถนนต้องถูกตรวจวัด ซึ่งเป็นไปได้ใน 2 ทิศทาง ทิศทางแรกคือทำให้กฎหมายบังคับได้ อีกทิศทางหนึ่งคือหากไม่มีกฎหมายที่บังคับได้ แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการ จะมีมาตรการหรือแนวทางความร่วมมือกันอย่างไร รวมถึงในเรื่องของการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะต้องมีการนัดหารือกันอีกครั้ง โดยมีทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่ดูแลด้านเทคโนโลยีของกทม. ร่วมหารือด้วย