In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตยานนาวาตรวจงาน ดูจัดเก็บภาษี/แยกขยะ/สวน15นาที
กรุงเทพฯ-เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตยานนาวา ส่องสวน 15 นาที ชมคัดแยกขยะชุมชนปากคลองช่องนนทรี ปรับโฉมแผงค้าหน้าธนาคารกรุงศรีพระราม 3 คุมเข้มฝุ่นจิ๋วน่ำเฮงคอนกรีต ย้ายซากรถจอดทิ้งริมทาง สำรวจ Hawker Center ตลาดนัดสาธุ
(25 เม.ย.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตยานนาวา ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 20,012 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 29,947 แห่ง ห้องชุด 23,665 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 73,624 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามเป้าหมายที่กำหนด
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตยานนาวา มีข้าราชการและบุคลากร 652 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายคัดแยกภายในฝ่าย เจ้าหน้าที่รวบรวมขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า และบริจาคให้กับโครงการแยกเพื่อให้พี่ไม้กวาด 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายคัดแยกภายในฝ่าย เจ้าหน้าที่รวบรวมมาไว้ที่จุดรวมเพื่อทำปุ๋ยหมัก 3.ขยะอันตราย แต่ละฝ่ายนำมารวบรวมไว้ที่จุดพักขยะอันตราย และนำส่งศูนย์ฯ 1 เดือนต่อครั้ง 4.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่รวบรวมขยะแต่ละฝ่ายมาไว้ที่จุดพักขยะ เพื่อรอการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน
สำรวจสวน 15 นาที สวนถนนริมทาง ถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาเข้าตั้งแต่แยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ถึงแยกถนนนนทรี พื้นที่ 1 งาน 12 ตารางวา เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวน 15 นาที ปูหญ้า ทำทางเดิน-วิ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนสวนหย่อมหอนาฬิกา ถนนพระรามที่ 3 พื้นที่ 1 งาน ตั้งอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้านรวยรุ่งเรือง เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที ปูหญ้า ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม เพื่อให้มีความร่มรื่นสวยงามมากยิ่งขึ้น
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะตามแหล่งกำเนิด ชุมชนปากคลองช่องนนทรี พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ประชากร 202 คน บ้านเรือน 35 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ทิ้งที่จุดรวบรวมเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกประเภทของขยะรีไซเคิล รวบรวมไว้รอการจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป รวบรวมไว้ที่จุดพักขยะของชุมชน รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้ที่จุดพักขยะของชุมชน รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 150 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 269 ราย ได้แก่ 1.หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ผู้ค้า 18 ราย 2.หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ ผู้ค้า 35 ราย 3.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 29 ราย 4.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 5.หน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 165 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้บันทึกข้อมูลผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้า ทั้ง 5 จุด พร้อมทั้งจัดทำคิวอาร์โค้ดและส่งมอบให้ผู้ค้าเรียบร้อยแล้ว สำหรับความคืบหน้าการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร 3 ระยะ เขตฯ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ดังนี้ ระยะที่ 1 หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ธนาคารส่งมอบร่มและแผงค้าให้กับเขตฯ เพื่อส่งต่อผู้ค้าแล้ว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ระยะที่ 2 และ 3 ธนาคารจะทยอยส่งมอบร่มให้พื้นที่ทำการค้าที่เหลือต่อไป
จากนั้น ได้ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสาธุประดิษฐ์ 19 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 51 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 2.ถนนนางลิ้นจี่ 5/1 ถนนนางลิ้นจี่ ผู้ค้า 8 ราย 3.ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 21 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด (ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา) ถนนพระรามที่ 3 เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 34 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทการสะสมซีเมนต์ หิน ดิน ทราย วัสดุก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทอู่รถสองแถว 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเปิดตลอดเวลาการทำงาน ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนหรือฝุ่นผงตกค้าง ตรวจสอบบ่อตกตะกอนและบ่อคายกากปูน ล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน และตรวจวัดควันดำรถโม่ปูนอย่างสม่ำเสมอ
ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยสาธุประดิษฐ์ 19 เขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประกอบกับได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้ จำนวน 3 คัน ได้แก่ ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 หรือซอยสาธุประดิษฐ์ 19 บริเวณหน้าประตูลานกีฬาสวนรวมใจยานนาวาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ถนนรัชดาภิเษก และซอยเย็นอากาศ 2 แยก 3 โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบว่าอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทางคดีหรือไม่ พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน แต่ยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครองซากยานยนต์ โดยวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ และกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งให้การสนับสนุนรถสไลด์ในการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ เพื่อนำไปไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม โดยจะจัดเก็บซากยานยนต์ไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ตรวจพบซากยานยนต์ จำนวน 1,305 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย จำนวน 1,092 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย จำนวน 167 คัน และรอเคลื่อนย้าย จำนวน 46 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 29 คัน และขายทอดตลาด จำนวน 11 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2566)
สำรวจพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณตลาดนัดสาธุ ซอยสาธุประดิษฐ์ 3 พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา ซึ่งเป็นตลาดเอกชน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมเพื่อจัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งผู้จัดการตลาดนัดสาธุพร้อมให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจัดทำเป็น Hawker Center จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อย โดยให้ยุบรวมมาทำการค้าจุดเดียวกัน รวมถึงพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสุเมธ อมรศรีวรากุล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตยานนาวา สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล