In Bangkok

รามาฯ-กทม.ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ความรู้การบริการสาธารณสุขร่วมกัน



กรุงเทพฯ-(26 เม.ย. 66) ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) กับกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการบริการวิชาการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ขั้นสูง และภาวะฉุกเฉินหรือสาธารณภัยให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ พร้อมด้วย ศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนางสาวผุสดี พรหมายน รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงฯ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) กับกรุงเทพมหานคร ขึ้น เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ทางการแพทย์ร่วมกัน พัฒนาต่อยอดระบบบริการสาธารณสุขในระดับพื้นที่ไปด้วยกันกับทางกรุงเทพมหานคร

สำหรับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับสุขภาพชุมชนและการให้บริการสาธารณสุขของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ไปจนถึงการดูแลในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับเป้าหมายการยกระดับที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในด้านสร้างสรรค์ดีและสุขภาพดี โดยเฉพาะเรื่องชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ active aging การขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง การเพิ่มจำนวน excellence center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง การยกระดับศูนย์บริการ เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร การส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ การรักษาและทรงตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล และพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัย 

โดยกรุงเทพมหานครและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการร่วมกันในการจัดรูปแบบการเป็นพี่เลี้ยง การให้คำปรึกษา การส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดการองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่จำเป็น รวมทั้งการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริบาลผู้สูงอายุให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 420 ชั่วโมง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดของประเทศไทย พร้อมผลิตสื่อวีดิทัศน์ให้ความรู้ในด้านปัญหาการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่พบบ่อย และผลิตนวัตกรรมหุ่นจำลองเพื่อเป็นสื่อการสอนในการดูแลรักษาผู้ป่วยแผลกดทับ โดยประชาชนที่ได้รับการอบรมจนจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรการรับรองอาชีพหรือวิชาชีพ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพและยกระดับการบริการสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ในการนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวว่า  รพ.รามาฯ ถือเป็นแนวหน้าในเรื่องของ innovation หรือนวัตกรรม ฉะนั้น หากมีสิ่งใดที่กทม.สามารถร่วมมือได้ เราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง 

"สำหรับปัญหาหลักที่พบในกทม.คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โดยหัวใจในการลดความเหลื่อมล้ำคือ การศึกษา และการให้บริการทางสุขภาพ ซึ่งโครงการความร่วมมือในวันนี้เป็นการนำทั้ง 2 เรื่องมารวมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

กทม.มีโรงเรียนฝึกอาชีพหลายแห่ง แต่ที่ผ่านมาเราสอนแต่ทำผม ทำขนมเค้ก ตัดเสื้อผ้า แต่ยังไม่มีการฝึกอาชีพผู้ดูแล (Caregiver/Caretaker) ให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมี demand (อุปสงค์) จากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการสร้างทางเลือกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยสร้างอาชีพด้านผู้ดูแล และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกด้วย" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย