In Thailand

จัดอบรมความรู้ด้านสุขภาพแนะนำปชช.ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภัยสุขภาพช่วงฤดูร้อน



กาญจนบุรี-สสจ.กาญจนบุรี จัดการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพงานสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ แนะนำ ปชช.ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ของวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ห้องประชุมสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล นพ.ชาติชาย  กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นพ.กฤษดา วุธยากร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี และผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพงานสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพงานประชาสัมพันธ์เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง จังหวัดกาญจนบุรี ปี 2566 พร้อมให้คำแนะนำประชาชนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน

    

เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนยุทธศาสตร์การสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร นโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนและพัฒนาภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน

เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ความตระหนัก นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และเพื่อให้การประชาสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และแก้ไขความเข้าใจผิด โดยใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนตระหนักและใส่ใจการดูแลสุขภาพ และสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประชาชน และชุมชน  

โอกาสนี้นายแพทย์กฤษดา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแนะนำประชาชนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน พร้อมทั้งให้คำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคโรคพิษสุนัขบ้าและประสบการณ์การดำเนินงานควบคุมโรคในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนโดยมีพาหะหลักจากสุนัข แมว ที่นำเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ซึ่งอาจกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล ที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน

สำหรับอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีน้ำลายไหล ซึม เบื่ออาหารคอแข็ง วิ่งพล่าน โมโหร้าย วิ่งกัดคนไม่เลือก หากพบเห็นไม่ควรเข้าใกล้ และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อกำจัดสัตว์ที่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า   เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้าง และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด หรือโดนทำร้าย สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย ได้ดังนี้

 ย ที่ 1 คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆโมโห

 ย ที่ 2 คือ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ตกใจ ย ที่ 3 คือ อย่าแยก สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า

 ย ที่ 4 คือ อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ กำลังกินอาหาร

 ย ที่ 5 คือ อย่ายุ่ง กับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ ไม่เข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ 

หากถูกสุนัขกัด ต้องปฏิบัติตนอย่างถูกต้องโดย ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามที่แพทย์แนะนำ ต้องจำสัตว์ที่กัดให้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของและสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน และถ้าพบสุนัขนั้นตายก่อน 10 วัน และมีประวัติกัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำหัวส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ใกล้บ้าน

“สุนัขกัด ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อจนครบชุด”

เพื่อสุขภาพที่ดีและปลอดภัย  ควรดูแลลูกหลานไม่ให้คลุกคลีหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เลี่ยงลูกด้วยนมต่างๆ เช่น แมว ลิง ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป สัตว์จรจัด หรือสัตว์ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากเด็กๆชอบเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ เมื่อโดนกัดหรือข่วนเพียงเล็กน้อยก็คิดว่าไม่มีอันตราย อาจจะเสียชีวิตได้ถ้าสัตว์นั้นมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

สนั่น-กาญจนบุรี