In Bangkok

เสนอกทม.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพดับเพลิง ตั้งถังดับเพลิงประปาหัวแดงคลุมทั่วถึง



กรุงเทพฯ-ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบึงกุ่ม เสนอญัตติขอให้กรุงเทพหานครเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านการระงับเหตุอัคคีภัย

เนื่องจากอัคคีภัยถือเป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการเกิดเหตุในแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งตามมาตรฐานการระงับเหตุสาธารณภัยสากลกำหนดเป้าหมายให้รถดับเพลิงต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุภายในเวลา 8 นาที นับแต่ได้รับแจ้งเหตุ แต่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้อยู่ในมาตรฐานได้ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น จำนวนสถานีดับเพลิงที่ปัจจุบันมีเพียง 48 แห่ง ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทางระหว่างสถานีดับเพลิงกับจุดเกิดเหตุ จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ  นอกจากนี้ชุมชนที่มีถนนแคบรถดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึงได้ จำนวนประปาหัวแดง และถังดับเพลิงไม่เพียงพอ หรือมีแต่ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ไม่สามารถระงับเหตุเบื้องต้นได้ ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรเตรียมความพร้อมในการระงับอัคคีภัยให้รวดเร็ว โดยการเพิ่มจำนวนสถานีดับเพลิงย่อย เพิ่มบุคลากรหรือจัดการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเพิ่มเติม สำรวจและติดตั้งประปาหัวแดง ตรวจสอบและจัดหาถังดับเพลิงให้เพียงพอ รวมถึงการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันอัคคีภัยแก่ประชาชน เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยและลดความสูญเสียจากเหตุอัคคีภัย จึงขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านการระงับเหตุอัคคีภัย

“ในพื้นที่กทม.พบเกิดเหตุเพลิงไหม้หลายครั้ง โดยพื้นที่เขตบึงกุ่มเองได้เกิดเหตุเพลิงไหม้วัดนวลจันทร์ ซึ่งวัดได้เดินสายไฟใหม่แต่ยังเกิดเหตุ รวมถึงภายในวัดยังมีถังดับเพลิงไม่เพียงพอ และไม่มีประปาหัวแดง นอกจากนี้ยังมีเพลิงไหม้ชุมชนคลองรหัสในเขตคันนายาว ซึ่งทั้งสองเหตุอยู่ในความดูแลของสถานีดับเพลิงบางชัน แต่ด้วยสภาพพื้นที่และจำนวนประชากรที่เปลี่ยนไป จึงไม่สามารถดูแลเหตุได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันกทม.มีสถานีดับเพลิง 48 แห่ง และมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในจำนวนที่น้อยมาก ไม่เพียงต่อการดูแลได้ทั่วถึง จึงควรตั้งสถานีดับเพลิงและเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสม ข้อมูลจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม. พบว่าอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ความล่าช้าในการดำเนินโครงการก่อสร้างเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาที่เห็นว่าสำคัญที่สุดคือการขยายสถานีดับเพลิงและกู้ภัย ในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที นอกจากนี้ยังมีปัญหาการซ่อมบำรุงรักษารถดับเพลิงและอุปกรณ์กู้ภัยเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ทั้งเรื่องของอัตรากำลัง เครื่องมือ สถานีดับเพลิงล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ การฝึกซ้อมป้องกันอัคคีภัยก็สำคัญไม่แพ้กัน จึงขอให้ฝ่ายบริหารดูแลปัญหานี้ด้วย” นายเนติภูมิ กล่าว

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ในพื้นที่เขตลาดกระบังพบการเผาทุกวัน ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันจำนวนมาก ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนท้อง ในขณะที่ผู้บริหารกทม.ได้มีหนังสือกำชับเรื่องห้ามการเผาในที่โล่งไปแล้ว แต่พบว่าไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด จึงเสนอให้ดำเนินการปรับและกำหนดโทษจำคุกสำหรับเจ้าของที่ดินที่ปล่อยปละละเลยให้มีการเผาในที่ของตนเพื่อเป็นการป้องปรามปัญหา

นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง กล่าวว่า ถังดับเพลิง ประปาหัวแดงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน ในพื้นที่กทม.มีชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน และส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด จึงขอให้เร่งรัดการติดตั้งประปาหัวแดงและติดตั้งถังดับเพลิงให้ทั่วถึง ด้านนายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง กล่าวว่า การแจกจ่ายถังดับเพลิงขอให้กระจายไปยังบ้านเรือนประชาชนโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงในการเกิดเหตุด้วย นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน และนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก ได้กล่าวสนับสนุนในญัตตินี้ด้วย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องการเผาได้มีหนังสือขอให้ทุกเขตเฝ้าระวัง หากพบให้ปรับจริงจัง ในส่วนของชาวนาได้มีการประชาสัมพันธ์ให้จัดเก็บฟางให้เรียบร้อย งดการเผาชีวมวล เพราะอัคคีภัยเป็นเรื่องสำคัญที่เร่งรัดอยู่

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยง Bangkok Risk Map มีการระบุพื้นที่เสี่ยงอัคคีภัยแล้วเสร็จ โดยเป็นข้อมูลชุมชนแออัดและชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัย เรื่องถังดับเพลิงในปี 64 กทม.มีการสั่งซื้อถังดับเพลิงยกหิ้วที่เป็นผงเคมีแห้ง 41,113 ถังและแจกถังดับเพลิงไปยังชุมชน พื้นที่สาธารณะและหน่วยงานราชการไปแล้วทั้งหมด และยังมีถังดับเพลิงชนิดยกหิ้วชนิดสูบน้ำ อีกกว่า 5,670 ถัง  รวมถึงได้ให้สำนักงานเขตไปสำรวจความต้องการในพื้นที่เสี่ยงสูงเพิ่มเติม พบว่าในพื้นที่ 42 เขต มีการขอเพิ่มกว่า 451 ชุมชน รวมกว่า 9,979 ถัง และอยู่ในแผนเรียบร้อย ในส่วนของประปาหัวแดง พบว่ายังขาดอีก 258 หัว และการประปานครหลวงจะติดตั้งให้ 81 จุด อีก177 จุด จะเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อยู่ระหว่างการกำหนดจุดให้สอดคล้องกัน

สำหรับการอบรมชุมชนในปีนี้จะดำเนินการใน 240 ชุมชน การฝึกซ้อมจะเป็นไปตามที่ผู้ว่าฯได้สั่งการให้มีแผนความเสี่ยงเฉพาะชุมชนขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ เรื่องอัตรากำลังขณะนี้ว่างอยู่กว่า 197 อัตรา จึงได้สั่งการให้สำนักงานก.ก.ศึกษารูปแบบการแก้ปัญหา ทั้งการทำ MOU กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยเพื่อสรรหาบุคคลมาสมัครงานให้มากขึ้น การทบทวนค่าตอบแทนและเบี้ยงความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการในเรื่องของอาสาสมัครที่จะช่วยงานของกทม. จะมีการร่างข้อบัญญัติเพื่อจ่ายเงินสนับสนุนให้และดำเนินการขึ้นทะเบียนอปพร.และอาสามูลนิธิเพื่อให้เข้าสู่ระบบ เรื่องสถานีดับเพลิง 41 สถานีหลัก 7 สถานีย่อย อยู่ระหว่างการเพิ่มสถานีหลัก 3 แห่ง คือ บางบอน คลองสามวา และแจ้งวัฒนะ และยกระดับสถานีย่อยให้เป็นสถานีหลักอีก 3 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนรูปแบบกายภาพ ในเรื่องการแก้ปัญหาเข้าพื้นที่ภายใน 8 นาที กทม.ได้เพิ่มประสิทธิภาพ motorlance ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 37 คัน ใน 7 สถานีหลัก สามารถดับเพลิงแบบใช้โฟมเคมีได้ เป็นการดับเพลิงขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคลังทรัพยากรฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ ทั้งรถดับเพลิง รถบันไดสูง และสิ่งของช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจำเป็นต้องแบ่งไปในพื้นที่ย่านต่าง ๆ หรือไม่
——