Health & Beauty

สธ.ร่วมรัฐ-เอกชนเปิดหน่วยบริการพื้นที่ ในสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก



กรุงเทพฯ-มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ หน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เดินหน้ารณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการรับวัคซีนทั่วประเทศ ในโอกาสสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week 2023)

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กล่าวว่า “องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 24-30 เมษายน 2566 เป็นสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week 2023) ซึ่งทีมประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายระดับโลก ภายใต้แนวคิด The Big Catch-Up รวมพลัง สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค ผ่านการประสานระหว่างมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชนและสถาบันวัคซีนแห่งชาติซึ่งร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี และปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ด้วยความร่วมมือกันทั้งจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจ และตระหนักถึงความจำเป็นของการได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดความยอมรับ และร่วมมือกันทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง”

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน โดยเฉพาะในวัยเด็ก เพื่อเป็นเกราะป้องกันโรคและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง เนื่องในสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ประกาศ Kick off กิจกรรมสนับสนุนการดำเนินการเชิงรุกของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการเพิ่มความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในประเทศไทยตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ โดยจะมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ และจะมีการประเมินผลในช่วงปลายปี ทั้งนี้ จะมีการสร้างแรงจูงใจให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีอัตราความครอบคลุมในการให้บริการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือกันอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม โดยการดำเนินงานเพื่อสร้างความครอบคลุมนั้น ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็กมีสุขภาพดี และปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ”

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพแก่ประชาชน โดยดำเนินการพัฒนามาตรฐานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อบริบทของพื้นที่กรมควบคุมโรคมีความพร้อมในการสนับสนุนเชิงวิชาการสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสัมฤทธิ์ผล และมุ่งดำเนินการฉีดวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้บริการวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครบถ้วนตามเกณฑ์ นำไปสู่การเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของประชากรในประเทศไทย”

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือด้านสาธารณสุขที่คุ้มค่าที่สุดและเป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่ดีที่สุด การฉีดวัคซีนช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก และป้องกันการเสียชีวิตของผู้คนประมาณ 3.5-5 ล้านคนทั่วโลกจากโรคภัยต่าง ๆ ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กหลายล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้เด็กหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากการป้องกันขั้นพื้นฐานจากโรคร้าย และเราควรต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้กับเด็กและผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประเทศไทยมีระบบการดูแลสุขภาพที่เข้มแข็ง ด้วยการทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครหลายแสนคน รวมทั้งพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งความมุ่งมั่นในการรับมือโรคโควิด 19 ร่วมกันนี้ ทำให้คนไทยได้รับการปกป้องจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกขอขอบคุณทุกคนและมีความภูมิใจและพร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างทุกคน”

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มุ่งประสานความร่วมมือ เพื่อก่อให้เกิดการผนึกกำลังของภาครัฐและเอกชน ที่จะผลักดันให้การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประชาชนในประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของวัคซีนทั้งระดับนโยบาย ระดับผู้ปฏิบัติ และประชาชน ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประเทศไทยมีอัตราความครอบคลุมในการให้บริการวัคซีนในปี 2564-2565 ลดลงร้อยละ 10-20 ในแต่ละชนิดวัคซีน อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ดังนั้น ในโอกาสสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนี้ จึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการเร่งรัดเพื่อสร้างความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน และเชิญชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนดนัดหมายให้มากที่สุด เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน อีกทั้งยังช่วยลดการระบาดของโรคดังกล่าวในภาพรวมด้วย”