Travel Sport & Soft Power
อนุรักษ์พันธุกรรมพืช‘มะพร้าว’และอนุรักษ์สืบสานต่อยอดภูมิปัญญา
สุราษฎร์ธานี-มรส. สร้างมัคคุเทศก์น้อยร่วมพัฒนาเส้นทางมะพร้าวเกาะพะงันหวังต่อยอดรายได้ท้องถิ่น
โครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) อบรมมัคคุเทศก์ "เส้นทางมะพร้าวเกาะพะงัน" ตามโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน หวังสร้างจุดเริ่มต้นมัคคุเทศก์น้อยในอนาคต เกิดการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช "มะพร้าว" และอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญา ให้คงอยู่ พร้อมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เเละมัธยมศึกษาจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเกาะพะงันเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อวันที่ 24-26 เมษายน 2566 ณ ศูนย์การเรียนรู้มะพร้าว ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า การอบรมมัคคุเทศก์ “เส้นทางมะพร้าวเกาะพะงัน” เป็นส่วนในโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน ภายใต้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีเป้าหมายสร้างมัคคุเทศก์ที่เป็นเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้นำชมเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม "ภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน" เพื่อสร้างโอกาสด้านอาชีพตลอดสร้างรายได้ให้แก่ตนเองในอนาคต อีกทั้งเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวของนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม และสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้อีกด้วย
ด้านเด็กชายกันติทัต เพชรอาวุธ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านท้องนายปาน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมเรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ ได้รับความรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์มะพร้าวเกาะพะงัน เพื่อจะนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ และประโยคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมะพร้าว ตลอดการสร้างเนื้อหา (Content) ให้เกิดความน่าสนใจ
สำหรับการอบรมมัคคุเทศก์ "เส้นทางมะพร้าวเกาะพะงัน" ประกอบด้วยหัวข้อ การสร้างความสัมพันธ์ด้านการให้บริการ เทคนิคการใช้ 2H2G ฝึกวิธีการพูด และการใช้ H1 Highlight การดึงดูดจุดเด่นของสถานที่ท่องเที่ยว โดย อาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว การฝึกทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดย อาจารย์ ดร.ทวิรัฐ สองเมือง อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างคอนเทนต์สำหรับ Junior Guide โดย อาจารย์กชพรรณ นุ่นสังข์ อาจารย์สาขาสารสนเทศศาสตร์เเละบรรณารักษ์ศาสตร์ โดยมีโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน ได้แก่ โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านใต้ โรงเรียนบ้านโฉลกหลำ โรงเรียนบ้านศรีธนู โรงเรียนบ้านมะเดื่อหวาน โรงเรียนเทศบาลตำบลเกาะพะงัน โรงเรียนบ้านท้องนายปาน เเละโรงเรียนวัดราษฎร์เจริญ จัดส่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้