Think In Truth
'ดีโหวต'เปิดบล็อกเชนโพล โค้งสุดท้าย ‘เลือกตั้ง66’พท.ยึดเขตกก.ยึดปาร์ตี้ลิสต์
กรุงเทพฯ-(6 พ.ค. 2566) - มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลสำรวจ ‘คะแนนความนิยมทางการเมือง 2566’ ประจำสัปดาห์ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 5 พ.ค. 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ จังหวัด ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,526 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0 ผ่านเทคโนโลยีสำรวจความเห็นสาธารณะบนบล็อกเชน
โดยพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 44.20 อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.60 อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.97 อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.47 อันดับ 5 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.91 อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.40 อันดับ 7 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.26 อันดับ 8 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.84 อันดับ 9 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.72 อันดับ 10 พรรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ร้อยละ 0.44 และผู้ยังไม่ตัดสินใจร้อยละ 0.17 โดยเมื่อเทียบกับผลสำรวจ ครั้งที่แล้ว (ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 28 เม.ย.) พรรคการเมืองที่ความนิยมขยับสูงขึ้นสำหรับแบบบัญชีรายชื่อ 3 ลำดับแรก คือ พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย
ในขณะที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตที่ประชาชนจะเลือกเป็นอันดับ 1 คือจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 37.62 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 37.02 อันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 8.67 อันดับ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 7.38 อันดับ 5 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 4.22 อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.03 อันดับ 7 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.26 อันดับ 8 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.61 อันดับ 9 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 0.38 อันดับ 10 พรรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ร้อยละ 0.15 และผู้ยังไม่ตัดสินใจร้อยละ 0.47 โดยเมื่อเทียบกับผลสำรวจ ครั้งที่แล้ว พรรคการเมืองที่ความนิยมขยับสูงขึ้นสำหรับแบบแบ่งเขต 3 ลำดับแรก คือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า
บุคคลที่ประชาชนอยากสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็น อันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ก้าวไกล) ร้อยละ 44.73 อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (เพื่อไทย) ร้อยละ 21.20 อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน (เพื่อไทย) ร้อยละ 14.89 อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (รวมไทยสร้างชาติ) ร้อยละ 9.67 อันดับ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย) ร้อยละ 2.17 อันดับ 6 ไม่รู้/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 1.88 อันดับ 7 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (ประชาธิปัตย์) ร้อยละ 1.58 อันดับ 8 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พลังประชารัฐ) ร้อยละ 1.50 อันดับ 9 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ไทยสร้างไทย) ร้อยละ 1.40 อันดับ 10 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (เสรีรวมไทย) ร้อยละ 0.67 อันดับ 10 นายกรณ์ จาติกวณิช (ชาติพัฒนากล้า) ร้อยละ 0.32 โดยเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งที่แล้วบุคคลที่มีคะแนนนิยมขยับสูงขึ้น 3 ลำดับแรกคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ในขณะที่ผลสำรวจเบื้องต้นด้านนโยบาย (471 ตัวอย่าง) พบว่า 3 ปัญหาแรกที่ต้องการให้รัฐบาลหน้าเร่งแก้ไขคือ ค่าครองชีพ ร้อยละ 40.55 ความยากจน ร้อยละ 34.82 และคอร์รัปชัน ร้อยละ 27.81 ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ไม่สำเร็จคือ ไม่ได้คิดจะทำนโยบายดังกล่าวตั้งแต่แรก-เป็นแค่การหาเสียง ร้อยละ 56.05 คิดนโยบายไม่รอบคอบจนทำจริงไม่ได้ ร้อยละ 21.44 และพยายามทำแล้วแต่มีอุปสรรค ร้อยละ 14.23 และ ผลสำรวจเบื้องต้นในประเด็นว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างนโยบายและจุดยืนทางการเมือง (193 ตัวอย่าง) พบว่า ร้อยละ 66.84 ให้ความสำคัญกับจุดยืนทางการเมืองมากกว่า และร้อยละ 32.64 ให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่า