Think In Truth

ผลเลือกตั้งส.ส.แปดริ้ว3บ้านใหญ่ยังขลัง 'อดีตลูกน้อง'ร่วงเรียบ/ก้าวไกลยังไว้ลาย



ฉะเชิงเทรา-ผลการเลือกตั้งแปดริ้ว 3บ้านใหญ่ "ฉายแสง", "ตันเจริญ"และ"ศิริลัทธยากร"ยังได้ไปต่อ ขณะก้าวไกลรักษาพื้นที่คงเดิมเหนียวแน่นที่เขต 4 จากพลังคนหนุ่มสาววัยทำงาน ทำเพื่อไทยได้มากที่สุด 2 เก้าอี้จาก 4 ที่นั่งส่วนพลังประชารัฐคว้ามาได้แค่ 1 เขต ด้าน"กลุ่มอดีตลูกน้องเก่า" สังกัดพรรคลุงตู่ในเขตเลือกตั้งที่ 1มีลุ้นเขตเดียว นับคะแนนเบื้องต้นมีผลเป็นผู้นำคนตระกูลดัง “ฉายแสง” มาโดยตลอดก่อนถูกเบียด ทิ้งห่างไปกว่า 2 พันคะแนน

วันที่ 15 พ.ค.66 เวลา 05.18 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยถึงผลการเลือกตั้ง ส.ส. ฉะเชิงเทรา อย่างไม่เป็นทางการทั้ง 4 เขตจากนายธนกฤต นาคจารุพงษ์ ผอ. กกต. จ.ฉะเชิงเทรา หลังการนับคะแนนครบถ้วนทั้งหมดแล้วปรากฏว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.ฉะเชิงเทรา ในเขตเลือกตั้งที่ 1 คือ นางฐิติมา ฉายแสง อดีต ส.ส. 2 สมัยผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทยได้คะแนน 35,488 คะแนน นำห่างจากนายมติชน ชูทับทิม ผู้สมัครหมายเลข 7 จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 33,000 คะแนน ทั้งที่ในระยะแรกนั้นเป็นผู้มีคะแนนนำมาตลอด แต่ได้ถูกแซงขึ้นไปในช่วงสุดท้ายในที่สุด

ส่วนนายธนะชัย แสวงศิริผล ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 3 ได้คะแนน 26,001 คะแนน อันดับที่ 4 คือ นายรัฐสภา นพเกตุ บุตรชายกำนันบัง “นายสมบัติ นพเกตุ” คนดังแห่ง อ.แปลงยาว และยังเป็นบุตรเขยตระกูล “จารุสมบัติ” ผู้สมัครหมายเลข 3 พรรคพลังประชารัฐได้คะแนน 13,595 คะแนน อันดับ 5 นายเฉลิง จูจำรัส ผู้สมัครหมายเลข 8 จากพรรคชาติไทยพัฒนาได้คะแนน 4,151 คะแนน อันดับ 6 นายประโยชน์ โสรัจจกิจ ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 1,409 คะแนน

ขณะที่อดีต ส.ส.เก่า 1 สมัยอย่างนายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 5 ที่เคยได้รับเลือกตั้งเมื่อครั้งลงสมัครในนามพรรคอนาคตใหม่ แต่ได้ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนน 1,223 คะแนนเป็นลำดับที่ 7 อันดับ 8 นายเชิดชัย บัณฑุเจษฎา พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 1 ได้คะแนน 821 คะแนน อันดับ 9 นายมานิตย์ จินดามงคล ผู้สมัครหมายเลข 12 พรรคคลองไทย ได้คะแนน 254 คะแนน อันดับ 10 นายสมศักดิ์ วงศ์จินดา ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้คะแนน 234 คะแนน 

อันดับ 11 นายวสันติ์ กันเนื่อง ผู้สมัครหมายเลข 13 พรรคพลังปวงชนไทย  ได้คะแนน 171 คะแนน อันดับ 12 นายสุทธิศักดิ์ ทองคำ ผู้สมัครหมายเลข 11 พรรคไทยภักดี ได้คะแนน 119 คะแนน อันดับ 13 นายวินัย ผดุงเจริญ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย หมายเลข 10 ได้คะแนน 70 คะแนน โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 นี้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา และพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์บางส่วนเฉพาะ ต.เทพราช เกาะไร่ คลองประเวศ และบางกรูด มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน  143,562 คนออกมาใช้สิทธิ์ 122,124 คน คิดเป็นร้อยละ 85.07 มีบัตรดี 116,536 ใบบัตรเสีย 3,088 ใบบัตรไม่เลือกผู้ใด 2,500 ใบ

เขตเลือกตั้งที่ 2 ผู้ได้รับเลือกตั้งคือ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 สมัย ได้คะแนน 42,777 คะแนน ขณะนายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 บุตรชายนายสมชัย อัศวชัยโสภณ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนและเพื่อไทย 2 สมัยได้คะแนน 40,785 คะแนน อันดับ 3 นายนพรัตน์ มุริกะ ผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 22,793 คะแนน อันดับ 4 นายฐาปกรณ์ เกิดพิทักษ์ ผู้สมัครหมายเลข 7 พรรครวมไทยสร้างชาติได้คะแนน 2,798 คะแนน อันดับ 5 นายอมรชัย ปิ่นเจริญ ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 1,715 คะแนน 

อันดับ 6 น.ส.รุ้งณภา สิงห์เทศ ผู้สมัครหมายเลข 5 พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนน 387 คะแนน อันดับ 7 น.ส.พัชรี มะลูลีม ผู้สมัครหมายเลข 8 พรรคพลังปวงชนไทย ได้คะแนน 363 คะแนน อันดับ 8 นายไพบูลย์ พิศาลยุทนาพงษ์ ผู้สมัครหมายเลข 6 พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนน 330 คะแนน อันดับ 9 น.ส.นุชชา วิไชยยา ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคคลองไทยได้คะแนน 185 คะแนน โดยเขตเลือกตั้งที่ 2 นี้อยู่ในเขตพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว บางคล้า ราชสาส์น คลองเขื่อน พนมสารคามบางส่วน เฉพาะ ต.พนมสารคาม และหนองยาว มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 142,721 คนออกมาใช้สิทธิ์ 119,211 คน คิดเป็นร้อยละ 83.53 บัตรดี 112,133 ใบบัตรเสีย 4,644 ใบไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 2,434 ใบ  

เขตเลือกตั้งที่ 3 ผู้ได้รับการเลือกตั้งคือ นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ บุตรชายของนายสุชาติ ตันเจริญ อดีตส.ส. เขตพื้นที่ 9 สมัย ผู้สมัครหมายเลข 5 พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 45,874 คะแนน นำห่าง “เด็ก สจ.เปี๊ยก (นายวรรณา รอดพิทักษ์)” คือ นายธรรมชาติ พรมพิทักษ์ ผู้สมัครหมายเลข 7 พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้คะแนน 34,886 คะแนน อันดับ 3 นายเอกราช เนตรดี ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคก้าวไกลได้คะแนน 21,955 คะแนน อันดับ 4 นายสายัณห์ นิราช ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 928 คะแนน 

อันดับ 5 นายหัสชัย สิงหนนท์ ผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนน 562 คะแนน อันดับ 6 นายสายัณห์ เกตุประยูร ผู้สมัครหมายเลข 6 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 507 คะแนน อันดับ 7 น.ส.ลัดดาวัลย์ น่วมรัศมี ผู้สมัครหมายเลข 3 พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้คะแนน 413 คะแนน อันดับ 8 นายสมรส สุขสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคไทยภักดี ได้คะแนน 221 คะแนน อันดับ 9 น.ส.เสาวลักษณ์ น้อยคำเมือง ผู้สมัครหมายเลข 8 ได้คะแนน 141 คะแนน อันดับ 10 นายศักดิ์ชัย ณรงค์หนู ผู้สมัครหมายเลข 10 พรรคคลองไทยได้คะแนน 136 คะแนน

โดยเขตเลือกตั้งที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่ อ.สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และพนมสารคาม ยกเว้น ต.หนองยาว ต.พนมสารคาม มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 144,787 คนออกมาใช้สิทธิ์ 113,283 คนคิดเป็นร้อยละ 78.24 มีบัตรดี 105,623 ใบบัตรเสีย 6,069 ใบ ไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 1,591 ใบ

เขตเลือกตั้งที่ 4 ผู้ได้รับการเลือกตั้ง คือ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ (ซัน) อดีต ส.ส.เดิม 1 สมัยผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 33,889 คะแนน ชนะคู่แข่งตระกูลดังบ้านใหญ่หลายค่ายทั้ง พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ อดีต ส.ส. 1 สมัย ผู้สมัครหมายเลข 7 พรรคพลังประชารัฐ ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ได้คะแนน 26,908 คะแนน อันดับ 3 จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ผู้สมัครหมายเลข 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนน 26,022 คะแนน อันดับ 4 นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ ส.ส.พื้นที่เดิมหลายสมัย ผู้สมัครหมายเลข 5 พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 20,639 คะแนน

อันดับ 5 นายศุภกร นพศิริ ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 786 คะแนน อันดับ 6 น.ส.สาริศา แสงจันทร์ ผู้สมัครหมายเลข 6 พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนน 767 คะแนน อันดับ 7 นายอนุเทพ ชาติเชษฐ์พงษ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนน 625 คะแนน อันดับ 8 นายพรชัย หาญชนะ ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคปวงชนไทย ได้คะแนน 173 คะแนน อันดับ 9 นายสุระเด่น สุวรรณะ ผู้สมัครหมายเลข 8 พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้คะแนน 159 คะแนน

โดยเขตเลือกตั้งที่ 4 นี้ครอบคลุมพื้นที่ อ.บางปะกง แปลงยาว และบ้านโพธิ์บางส่วน ยกเว้น ต.เทพราช เกาะไร่ คลองประเวศ และบางกรูด มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 140,157 คนออกมาใช้สิทธิ์ 116,000 คนคิดเป็นร้อยละ 82.76 บัตรดีจำนวน 109,968 ใบบัตรเสีย 4,190 ใบและไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 1,842 ใบ

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา