In Bangkok
กทม.ประชุมคณะกรรมการฯแผนแม่บท เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนัดแรกปี66
กรุงเทพฯ-(15 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 - 2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Plan on Climate 2021 – 2030) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
สำหรับการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ครั้งที่ 1/2566 ในที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างเมืองโยโกฮามากับกรุงเทพมหานคร (City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society) รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจำด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM) และรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Carbon Footprint for Organization: CFO) นอกจากนี้เป็นการพิจารณากรอบเนื้อหาสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Energy Action Plan) และการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 นอกจากนั้น เป็นการนำเสนอแผนการดำเนินการประจำปีของการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 และการแต่งตั้งผู้แทนของหน่วยงานภายใต้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับฯ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 เป็นการประชุมครั้งแรกของปีนี้ กรุงเทพมหานครมีแผนแม่บทอยู่แล้วที่จะทำในปี 64 ตอนที่ท่านปลัดฯ ขจิต เป็นผู้ลงนามไว้ สมัยที่ท่านรักษาการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ปี 2573 พยายามลดให้ได้ 19% ของ Business as usual หรือ BAU เทียบแล้วประมาณ 13 เมตริกตันต่อปีของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบันเราปล่อยอยู่ประมาณ 43 ล้านเมตริกตันต่อปี เป้าหมายจะลดคือจะลด 19% ภายในปี 2573 และปี 2593 จะให้เป็นศูนย์ ซึ่งจะมีกิจกรรมจำนวนมากที่ต้องเร่งดำเนินการ หลักๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมาจาก 4 ส่วน คือการใช้พลังงานทั้งในอาคาร การขนส่ง เรื่องขยะกับน้ำเสีย โดยเราจะชดเชยด้วยต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียว จะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ ก็จะมีทุกภาคส่วน ตั้งแต่เรื่องการจราจร การขนส่งระบบทางราง การขนส่งทางเลือก ทางเดินถนนต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้พลังงานในอาคาร ซึ่งจะอยู่ในมาตรการสนับสนุนให้ใช้อาคารสีเขียว การลดการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ เรื่องขยะมีกระบวนการ เช่น การแยกขยะ การทำโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ส่วนเรื่องพื้นที่สีเขียวก็มีนโยบายการเพิ่มสวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้ล้านต้น การทำสวน 15 นาที การดำเนินการเรื่อง Climate Change หรือว่าโลกร้อน จะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดยคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นคนสำคัญที่จะช่วยผลักดัน สิ่งที่ทำตอนนี้โครงการหลักคือการคำนวณว่าในกรุงเทพมหานคร ในหน่วยงานของเรา มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ มีการทำมาตรการใน 3 เขต คือ เขตดินแดง เขตบางขุนเทียน และเขตประเวศ ซึ่งทาง TGO ก็ช่วยในการคำนวณก่อนว่า กทม. ใช้เท่าไหร่ สุดท้ายก็จะพยายามจะลดการใช้งานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วในแต่ละปี
กรุงเทพมหานครปล่อยเท่าไหร่ ถ้าวัดได้จะสามารถประเมินความสำเร็จได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็มีผลในการทำ เพราะว่าหลายๆ เรื่องเป็นนโยบายรัฐบาลใหม่ เช่น การติดโซล่าเซลล์ตามหลังคาในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลใหม่น่าจะเป็นตัวสำคัญ ตอนนี้ต้องมีการเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อหารือกับรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ ที่จะร่วมมือกันในหลายๆ เรื่อง เป็นเรื่องที่มาจากนโยบายภาพรวมด้วย การใช้รถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาของเรื่อง PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยในเมืองเรา แล้วก็ปัญหาเรื่องของพลังงานไฟฟ้าที่เราต้องใช้มากขึ้นในกรณีที่ความร้อน จะเห็นว่า กทม. ก็เจอ Heat Wave ทำให้อุณหภูมิขึ้นสูงมากการทำงานของแอร์ก็จะมากขึ้น เรื่องมาตรการที่จะทำให้กรุงเทพฯ เย็นลง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ ทุกคนก็ต้องมาแก้ไขร่วมกัน กทม. มีแผนที่ทำต่อเนื่องมา และก็มีแผนที่ทำต่อเนื่องไป เรื่องสวน 15 นาที และต้นไม้ล้านต้น จึงมีการเพิ่มเติมเข้าไป แต่ต้องมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง และมีการวัดผลเพื่อให้ทราบความก้าวหน้าต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า การดำเนินการในส่วนของเขต ไม่ใช่แค่สำนักงานเขต แต่เป็นเขตพื้นที่ปกครองเลย อย่างเช่น เขตดินแดง การวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารแห่งนี้ ของศูนย์อนามัย ของสนามกีฬาเวสน์ คือทั้งหมดตั้งที่อยู่ในเขตนั้น ตั้งเป้าหมายประมาณ 1 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ เพราะ 3 เขต มีรูปแบบที่แตกต่างกัน มีเขตที่อยู่ชายขอบหรืออยู่ไกลออกไป เขตที่อยู่ในตัวเมือง เขตที่มีหน่วยงานอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขต ใน 1 ปี ถ้าเรามีรูปแบบจะสามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเริ่มกับตัวเราเองก่อน ถ้าเราไปบอกคนอื่นให้ทำ แต่กทม. ไม่เริ่มกับตัวเองก็อาจจะลำบาก หากสามารถทำข้อมูลได้ว่าปล่อยก๊าซจากไหน การกำกับดูแลก็จะไม่ยาก เพราะรู้ว่ามันปล่อยจากไหน ปล่อยจากรถยนต์เท่าไหร่ ตึกเราใช้พลังงานเท่าไหร่ ตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เอกชนอยู่ในภาพรวม ทำในส่วนของราชการก่อน เนื่องจาก กทม. ไม่มีอำนาจ ในส่วนของเอกชน ได้บอกกับทางที่ปรึกษาฯ ทางโยโกฮามา ซึ่งมีที่ปรึกษามาช่วยดูตรงนี้ ดูอำนาจขอบเขตของ กทม. ให้ดี ว่าเรามีอำนาจเท่าไหร่ในการบังคับใช้นอกเหนือพื้นที่ราชการ ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น น่าจะมีในแง่ของแรงจูงใจ เช่น เรื่องผังเมือง เรื่องกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น ถ้าเราใช้อาคารสีเขียวอาจจะให้มีเครดิตโบนัส ปัจจุบันมีอยู่แล้วในกฎหมายผังเมือง แต่คนยังไม่ค่อยชอบใช้เพราะว่าการขออนุญาตน่าจะไม่ง่าย ต้องมีการพิสูจน์ว่าประหยัดพลังงานได้จริง
ในการนี้มี นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนเมืองโยโกฮามา นายโทรุ ฮาชิโมโตะ ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ นายโนริโอะ โทมิโอกะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาความร่วมมือ สำนักวิเทศสัมพันธ์ นางสาวจุนโกะ สึคาโมโตะ เจ้าหน้าที่ กองพัฒนาความร่วมมือ สำนักวิเทศสัมพันธ์ Mr. Kimihiro KUROMIZU และ Mr. Jun WATANABE ที่ปรึกษาโครงการฯ (Overseas Environmental Cooperation Center: OECC) พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับฯ จากหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม