In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมให้บริการวัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ควบคู่วัคซีนโควิด19



กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในประชาชนทุกกลุ่มว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง ให้บริการความรู้ เช่น การจัดกิจกรรม นิทรรศการแก่ประชาชนที่มารับบริการ และประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง

สำหรับความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ สนพ.ได้จัดบริการแผนกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ควบคู่กับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ พร้อมแจ้งโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 12 แห่ง ให้รับทราบแนวทางการจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ควบคู่กับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเดือน พ.ค. - ส.ค.66 ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมกันได้ โดยให้ฉีดที่แขนคนละข้าง หากฉีดไม่พร้อมกันสามารถฉีดเมื่อใดก็ได้ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ได้รับสิทธิในการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต้องเป็นประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป (5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) (6) โรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร และ (7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

นอกจากนั้น สนพ.ยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และประชาสัมพันธ์สร้างความความเข้าใจ ย้ำเตือนประชาชนต้องระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค จึงควรไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ทั้ง 12 โรงพยาบาลสังกัด กทม.หรือจองลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (หากไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน เฉพาะผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถจองคิวผ่านสายด่วน 1330 กด 8)