In Bangkok
เล็งเปิดHawker Centerหน้าThe Street กทม.กำหนดต้นเดือนกรกฎาคมนี้
กรุงเทพฯ-เล็งเปิด Hawker Center หน้า The Street รัชดาฯ ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ชูต้นแบบคัดแยกขยะอาคารตลาดหลักทรัพย์ ส่องสวน 15 นาที Pocket Park ข้างสถานีดับเพลิงสุทธิสาร ติดตามระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้เขตดินแดง
(16 พ.ค.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดินแดง ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณหน้า The Street ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งผู้บริหาร The Street พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าติดกับทางเข้า จัดทำเป็น Hawker Center ขนาดแผงค้า 1.5 X 1.5 เมตร รองรับผู้ค้าได้ 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. จำหน่ายอาหารที่พร้อมรับประทานได้ทันที เมื่อเลิกทำการค้าในแต่ละวันผู้ค้าจะจัดเก็บร้านค้า ทำความสะอาดพื้นที่ คัดแยกเศษอาหาร และรวบรวมขยะประเภทต่างๆ นำไปทิ้งบริเวณจุดที่กำหนดไว้ โดยทาง The Street จัดเตรียมเต็นท์กันแดดไว้ให้ ซึ่งใน 6 เดือนแรก ยังไม่จัดเก็บค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ ส่วนค่าน้ำและค่าไฟฟ้า จัดเก็บตามอัตราที่กำหนด เริ่มทำการค้าได้ในเดือนกรกฎาคม 2566
ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ในจุดมีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ 4 จุด ได้แก่ 1.ตลาดสดห้วยขวาง ชั้น 2 พื้นที่ 512 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 24 ชั่วโมง รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 2.หน้าห้างเอสพลานาด พื้นที่ 54 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-22.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย 3.หน้าโครงการพร้อมรัชดา พื้นที่ 86 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้าในอาคาร เวลา 11.00-22.00 น. ตลาดนัดกลางคืน เวลา 16.00-24.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย และ 4.หลังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พื้นที่ 16 ตารางวา ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-19.00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์ รองรับผู้ค้าได้ 10 ราย
ในพื้นที่เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 313 ราย ดังนี้ 1.หน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 102 ราย 2.หน้าธนาคารกรุงไทย ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 48 ราย 3.หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 119 ราย 5.โค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย 6.โค้งหอนาฬิกา ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 3 ราย 7.หน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย และ 8.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ผู้ค้า 17 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินเส้นที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก ประกอบด้วย 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร A ความสูง 28 ชั้น อาคาร B ความสูง 7 ชั้น และอาคาร C ความสูง 9 ชั้น มีบุคลากร 1,100 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2561 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ นำไปทำปุ๋ยโดยใช้เครื่องทำหมักปุ๋ย เศษอาหาร รวบรวมให้เกษตรกรมารับนำไปเลี้ยงปลา 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละชั้นมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการคัดแยกขยะ และนำส่งไปรวบรวมจุดพักขยะ เพื่อแยกขาย และนำไปบริจาค เพื่อแปรรูปใช้ประโยชน์ที่วัดจากแดง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกและรวบรวมส่งทำเชื้อเพลิง RDF ใช้ในโรงงานซีเมนต์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 4.ขยะอันตราย คัดแยกและนำส่งกำจัด โดยบริษัทอัคคีปราการ ปีละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 280 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 160 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน
ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมข้างสถานีดับเพลิงสุทธิสาร ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเป็นสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park) เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ โดยดำเนินการรักษาต้นไม้ยืนต้นเดิมไว้ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพิ่มเติม ปรับปรุงทางเดินภายในสวนที่ชำรุดเสียหาย โดยใช้กากยางปูและเทแอสฟัลต์ และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 26,179 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 45,376 แห่ง ห้องชุด 17,901 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 89,456 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ เตรียมความพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 เพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องโปร่งใส
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดินแดง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล