Think In Truth

มุมมองเอกชนฝากถึงรัฐบาลใหม่ทำทันที การบริหารจัดการน้ำรับมือแล้งกลางปีนี้



กรุงเทพฯ-มุมมองเอกชน ฝากถึงรัฐบาลใหม่ บริหารจัดการน้ำรับมือแล้งกลางปีนี้ ชี้จำนวนผู้ใช้น้ำต้องไม่มากกว่าแหล่งกักเก็บ ขณะจำนวนผู้ใช้ยังมีอัตราก้าวหน้าเพิ่มเป็นทวีคูณตามจำนวนประชากรตลอดกว่า 20 ปี ทั้งยังมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมและประชากรแฝงที่เพิ่มเข้ามาในพื้นที่ ขณะอ่างเก็บน้ำในประเทศยังมีอัตราเติบโตไม่มาก วอนจัดหาหรือพัฒนาเพิ่มความจุให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

วันที่ 19 พ.ค.66 เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยถึงสถานการณ์ความต้องการน้ำของภาคเอกชนจาก นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์สแมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านชลประทานทางท่อ ในธุรกิจส่งจ่ายน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงให้แก่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมอีก 1 แห่งใน จ.ชลบุรี ได้กล่าวถึงความต้องการน้ำในปัจจุบัน และการเติบโตในอนาคตในระยะ 3 ปีข้างหน้า

ที่จะมีความต้องการใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นทวีคูณว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเติบโตของจำนวนประชากรผู้ใช้น้ำและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อ่างกักเก็บน้ำในประเทศยังคงมีอัตราคงที่หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในอนาคต จึงอยากฝากไปถึงยังรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า จำนวนผู้ใช้น้ำต้องไม่มากกว่าแหล่งกักเก็บจึงจะเรียกว่าไม่แล้ง 

ขณะจำนวนผู้ใช้น้ำนั้นยังมีอัตราก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรมาโดยตลอด ทั้งยังมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมและประชากรแฝงที่เพิ่มเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะที่อ่างเก็บน้ำในประเทศนั้นเราสร้างครั้งสุดท้ายไปเมื่อใด มีเพียงพอต่อผู้ใช้น้ำหรือไม่ หากมีเพียงพอจะไม่เกิดปัญหาแล้ง แต่หากไม่เพียงพอจะกลายเป็นปัญหาแล้งตามมาแน่นอน

จึงอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นชุดใดก็ตามว่า หากเราเก็บน้ำไว้ได้มากกว่าผู้ใช้น้ำปัญหาเรื่องภัยแล้งขาดน้ำจะน้อยลง และปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่อยากจะฝากให้รัฐบาลได้ใส่ใจในเรื่องของการลดมลภาวะ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพน้ำไม่ว่าเป็นเรื่องสภาพอากาศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ หากมีการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างให้จริงจังก็อาจจะทำให้แหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคกลับมามีคุณภาพดีได้

ส่วนภัยธรรมชาติหรือวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ฝนทิ้งช่วงที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ตามการคาดการณ์นั้น ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะคุณภาพและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมานั้นมีแนวโน้มไปในทิศทางที่น่ากลัว แม้จะมีฝนตกลงมาทุกปีตามสภาพภูมิประเทศของไทย ที่เราไม่ได้ขาดน้ำฝน เมื่อมีฝนมากก็ถูกเรียกว่าน้ำท่วม แต่หากมีฝนน้อยก็ถูกเรียกว่าแล้ง

แต่กลับไม่มีอะไรบ่งบอกได้เลยว่าปีไหนจะมากหรือน้อย แต่ความมากหรือน้อยนั้น กลับมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ผิดไปจากในอดีตที่หากบอกว่ามีฝนเยอะหรือฝนมากนั้นก็จะไม่เยอะมากถึงขนาดนี้ และหากบอกว่าปีไหนฝนน้อยก็จะไม่ได้น้อยมากถึงขนาดนี้ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงไปทางปรากฎการณ์ธรรมชาติ จุดนี้จึงเป็นความน่ากังวลที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง

ขณะที่คุณภาพของน้ำฝนที่กลั่นตัวขึ้นไปแล้วตกลงมา และไหลลงไปตามแหล่งน้ำคูคลองต่างๆนั้น ก็อาจมีการปนเปื้อน เนื่องจากสภาพของลำคลองในปัจจุบันนั้น ไม่ได้สะอาดอย่างเช่นในอดีต ฉะนั้นน้ำต้นทุนในพื้นที่ปัจจุบันจึงมีคุณภาพไม่ดี เมื่อเทียบกับคุณภาพน้ำตามธรรมชาติเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากดินมีการปนเปื้อน รวมถึงยังมีปัญหาขยะและสิ่งปนเปื้อนอีกรอบด้านที่มีเพิ่มมากขึ้น และไหลลงมาปนกับน้ำฝนที่จะถูกเก็บไว้เป็นน้ำต้นทุนที่จะใช้อุปโภคบริโภครวมถึงด้านอุตสาหกรรม 

ตามที่ได้มีการเก็บข้อมูลไว้พบว่าคุณภาพของน้ำฝนนั้น มีคุณภาพต่ำลง เริ่มไม่ดีไปเรื่อยๆ จึงกลายเป็นปัญหาต่อไปว่าเราจะเก็บน้ำอย่างไร เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำดีที่สุด จึงมองว่าควรเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำ และเพิ่มโครงข่ายชลประทานทางท่อให้คลอบคุมพื้นที่มากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการเองนั้น ยังได้ทำ CSR ในการขุดลอกลำคลองสาธารณะหรือคลองไส้ไก่ในพื้นที่ 

เพื่อเก็บขยะและดูแลพื้นที่โดยรอบให้สะอาด ภายใต้แนวคิด ESG (Environment Social Governance)รวมทั้งยังมีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ใกล้กันกับโรงทำสีรถ หรือแหล่งเลี้ยงสัตว์ ในการเข้าไปขอความร่วมมือ เข้าไปพูดคุยกันกับเจ้าของให้เข้าใจ ว่าแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้นี้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และขอให้ไม่ปล่อยน้ำลงมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้หรือไม่ ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือกันและสร้างความเข้าใจกันให้เกิดขึ้นในชุมชน นายธนวัฒน์ กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา