In Global

2ปีของภารกิจสำรวจดาวอังคารโดยยาน 'เทียนเวิ่น-1'ของจีน



ยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 ของจีน บรรลุเป้าหมายการสำรวจดาวอังคารโดยโคจร ลงจอด และสำรวจดาวอังคาร ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในการสำรวจอวกาศ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ยานลงจอดซึ่งบรรทุกยานหุ่นยนต์โรเวอร์ Zhurong ลงจอดทางตอนใต้ของ Utopia Planitia ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ในซีกโลกเหนือของดาวอังคาร นับเป็นการส่งยานอวกาศลงจอดครั้งแรกบนดาวเคราะห์นอกโลกของจีน

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ยานหุ่นยนต์โรเวอร์ Zhurong ถูกนำมาจากแท่นลงจอดและเริ่มสำรวจดาวอังคาร ทำให้จีนเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกา ที่ลงจอดและมีภารกิจการสำรวจดาวอังคาร

ความสำเร็จครั้งแรกโดยยานสำรวจเทียนเวิ่น-1
ยานเทียนเวิ่น-1 เป็นยานอวกาศที่มีส่วนประกอบ 3 ส่วน ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานโรเวอร์ สำหรับสำรวจดาวอังคาร ภารกิจในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ยานอวกาศสามารถบรรลุหน้าที่ที่กำหนด 3 ด้านในภารกิจเดียว ภารกิจนี้ทำให้จีนได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในการศึกษาเรื่องอวกาศต่อไป 

ก่อนที่จะเข้าสู่โซนแรงโน้มถ่วงของดาวอังคาร ยานสำรวจได้ถ่ายภาพดาวอังคารภาพแรกของจีนโดยใช้กล้องความละเอียดสูงที่ติดตั้งไว้ ทำให้สามารถมองเห็นลักษณะเด่นของดาวอังคารได้อย่างชัดเจน เช่นพื้นราบบนดาวอังคาร และหุบเขาขนาดใหญ่บนดาวอังคาร 

นอกจากนี้ยังมีภาพความละเอียดสูงภาพแรกของจีน ที่เป็นภาพของโฟบอส (Phobos) ซึ่งเป็นดาวบริวารของดาวอังคาร ซึ่งเป็นวัตถุขนาดเล็กที่มีรูปร่างไม่กลมโดยมีรัศมีเฉลี่ย 11 กม. โคจรรอบดาวอังคารที่ความสูง 6,000 กม. จากพื้นผิวดาวอังคารโดยวิถีโคจรเกือบจะเป็นเป็นวงกลม ใช้เวลาโคจรรอบดาวอังคารเพียง 7 ชั่วโมง 39 นาที

การสำรวจในครั้งนี้  ทำให้จีนมีข้อมูลแผนที่ดาวอังคารที่แบบสีเป็นครั้งแรกพร้อมกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับจากภารกิจสำรวจดาวอังคารของเทียนเวิ่น-1

ภารกิจสำรวจโดยยานหุ่นยนต์โรเวอร์ Zhurong
Zhang Rongqiao หัวหน้านักออกแบบโครงการสำรวจดาวอังคารของจีนกล่าวว่า ตามแผนจะมีการใช้ยานหุ่นยนต์โรเวอร์ Zhurng สำรวจดาวอังคารเป็นเวลา 90 วัน แต่ยานโรเวอร์ Zhurong สามารถสำรวจดาวอังคารเป็นเวลาถึง 358 วันและครอบคลุมระยะถึง 1,921 เมตร

ภารกิจต่อไปของเทียนเวิ่น
ทีมงานของโครงการสำรวจอวกาศกล่าวว่า ตอนนี้การพัฒนาต้นแบบเบื้องต้นของยานสำรวจเทียนเวิ่น-2 เสร็จสิ้นแล้ว และจะเปิดตัวประมาณเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2568 โดยมีเป้าหมายในการสำรวจดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่มีรหัสว่า 2016 HO3 ภารกิจนี้คาดว่าจะมีการเก็บตัวอย่างกลับมาจากดาวเคราะห์น้อยนี้ โดยจะเป็นครั้งแรกที่จีนจะมีการเก็บตัวอย่างจากวัตถุต่างดาวได้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจนี้ จะมีการสำรวจแถบดาวหางหลัก (Main-belt Comet) ต่อไป

จีนยังวางแผนการสำรวจอวกาศในอนาคตในภารกิจเทียนเวิ่น-3 มีแผนที่จะเก็บตัวอย่างกลับมาจากดาวอังคาร และ เทียนเวิ่น-4 จะสำรวจดาวพฤหัสและบริวาร  ที่จีนหวังว่าภารกิจการสำรวจอวกาศนี้จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ด้านอวกาศ และยังแสดงถึงศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศของจีนด้วย
-------------------------
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย