In Bangkok
รอผู้ว่าฯกทม.เล็งพัฒนาตลาดแสงจันทร์ สู่สวน15นาที/ชมแยกขยะโคกหนองนา
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตสาทร พัฒนาพื้นที่หลังตลาดแสงจันทร์สู่สวน 15 นาที สำรวจ Hawker Center ปากซอยเจริญกรุง 67 ชมคัดแยกขยะโคกหนองนา จัดระเบียบผู้ค้าหน้าตึกทีพีไอ คุมเข้มค่าฝุ่นไซต์งาน Grande Centre Point เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX ตรวจคัดแยกขยะเขตสาทร
(19 พ.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย
ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำสวน 15 นาที สวนหย่อมหลังตลาดแสงจันทร์ ซอยเจริญกรุง 76 พื้นที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินวิ่งแอสฟัลต์ ลานคอนกรีตอเนกประสงค์ บ่อทราย ลานอุปกรณ์บริหาร สระน้ำ และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี ต้นเฟื่องฟ้า สำหรับสวน 15 นาที เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทาง 800 เมตร ปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในชุมชน ให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อสร้างประโยชน์ใช้สอย สำหรับการออกกำลังกายพักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนในพื้นที่ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตสาทร ได้ร่วมกันปลูกต้นคอร์เดีย เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง บริเวณสวนดังกล่าว
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณปากซอยเจริญกรุง 67 ข้างวัดสุทธิวราราม พื้นที่กว้าง 7 เมตร ความยาว 55 เมตร ขนาดแผงค้า 2 X 2 เมตร รองรับผู้ค้าได้ 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารที่พร้อมรับประทานได้ทันที เมื่อเลิกทำการค้าในแต่ละวันผู้ค้าจะจัดเก็บร้านค้า ทำความสะอาดพื้นที่ คัดแยกเศษอาหารและรวบรวมขยะประเภทต่างๆ นำไปทิ้งบริเวณจุดที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ
เยี่ยมชมต้นแบบการแยกขยะ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เขตสาทร (โคก หนอง นา) ซอยจันทร์ 34/1 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน ประชากร 300 คน บ้านเรือน 100 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เกี่ยวกับการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ เช่น การทำน้ำหมักจากเศษอาหาร การทำปุ๋ยจากเศษอาหาร การทำน้ำหมักจากเศษผักและผลไม้ 2.ขยะรีไซเคิล ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เกี่ยวกับการนำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ เช่น นำขวดพลาสติกที่จัดเก็บได้หรือมีผู้นำมาบริจาค มาใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ เพื่อไว้ใช้ในกิจกรรมของเขตฯ เช่น กิจกรรมจิตอาสาใช้น้ำหมักปรับคุณภาพน้ำเน่าเสีย 3.ขยะทั่วไป ให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เกี่ยวกับขยะทั่วไป เช่น ขยะที่ติดมากับขยะอินทรีย์ เมื่อคัดออกมาแล้วจะเป็นขยะที่ปนเปื้อน โดยจะแยกไว้เพื่อให้เขตฯ นำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะอันตราย ยังไม่มีการจัดแยกในศูนย์ฯ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน นอกจากนี้ เขตฯ ได้ปรับปรุงศูนย์ฯ ดังกล่าว โดยเทแอสฟัลต์พื้นทางเดินรอบสวน และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 6.ถนนนราธิวาสฯ ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 7.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 8.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 9.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 10.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด นอกจากนี้ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน รวมถึงยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Grande Centre Point Lumphini ความสูง 41 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออก ล้างทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 20,896 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28,292 แห่ง ห้องชุด 15,168 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 64,356 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ พร้อมทั้งสอบถามถึงระบบการชำระภาษี BMA-TAX ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตสาทร มีข้าราชการและบุคลากร 350 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกแล้วนำไปรวบรวมที่จุดรับขยะรีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกแล้วใส่ถังสีเขียวเล็ก นำไปเทรวมที่ถังสีน้ำเงินมีฝาปิด ส่งต่อไปที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เขตสาทร (โคก หนอง นา) เพื่อทำน้ำหมักเศษอาหาร ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร และเกษตรกรนำไปเลี้ยงปลา 3.ขยะอันตราย รวบรวมไว้ที่ถังสีแดง นำขยะที่รวบรวมไว้ไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บเป็นประจำทุกวัน โดยนำขยะไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 18 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่