In Bangkok

กทม.ซ้อมใหญ่เหตุเรือด่วนเจ้าพระยา ชนกับโป๊ะเรือ ณ ท่าเรือยอดพิมาน 



กรุงเทพฯ-(22 พ.ค. 66) เวลา 08.00 น. ณ ท่าเรือยอดพิมาน เขตพระนคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ประจำปี 2566 อย่างเต็มรูปแบบ ตามโครงการระดมทรัพยากรในพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมทางการแพทย์ในเหตุสาธารณภัย ปี 2566 ภายใต้สถานการณ์ “เหตุเรือด่วนเจ้าพระยาชนกับโป๊ะเรือ” โดยมี พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พร้อมคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  สาธารณภัยและภัยพิบัติทุกประเภทหากเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือในเหตุสาธารณภัยรูปแบบต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ประสบเหตุให้รอดชีวิต ปลอดภัย และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการและทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากจะทำให้บุคลากรมีความเข้าใจในขอบเขตอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

“ขอขอบคุณทุกคนที่มาเพื่อทำให้เราเข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานจะทำอย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น เมื่อซ้อมเสร็จแล้วจะมีการหารือกับผู้แทนทุกหน่วยงานหลังซ้อมว่าเป็นอย่างไรบ้าง การซ้อมทำให้เราเรียนรู้อะไร ตรงไหนของการซ้อมที่ไม่สมจริง เพื่อครั้งหน้าจะได้ทำให้สถานการณ์สมจริงยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับการทำงานอย่างแท้จริง หากมีเครื่องมือหรือทรัพยากรอะไรติดขัดขณะซ้อมก็สามารถแจ้งได้ เรื่องใดที่จะต้องแก้ไขจากฝั่งของกรุงเทพมหานครไปสู่ภาคส่วนที่มาช่วยก็จะทำ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ประสบเหตุได้จริง ๆ” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า  สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้จัดโครงการระดมทรัพยากรในพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมทางการแพทย์ในเหตุสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นกิจกรรมการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการทางการแพทย์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัย มีการปรับเปลี่ยนสถานการณ์และวิธีการในการปฏิบัติการให้เหมาะ โดยกำหนดให้การฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการในเหตุ “เรือโดยสารชนท่าเทียบเรือ” ทำให้มีผู้ประสบเหตุ 68 ราย มีการนำระบบบัญชาการเหตุการณ์ Incident Command System (ICS) มาใช้ เพื่อช่วยให้การเผชิญเหตุการณ์ไม่เกิดความสับสน การปฏิบัติการและการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการร่วมปฏิบัติการในเหตุสาธารณภัยดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ซึ่งในการซ้อมแผนปฏิบัติการทางการแพทย์ฯ ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร สำนักงานประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรมเจ้าท่า บริษัท เจ.บี.แอสเสท จำกัด ผู้บริหารตลาดยอดพิมาน บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง สถานีตำรวจนครบาลปากคลองสาน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โรงพยาบาลหัวเฉียว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิร่วมกตัญญู 

ด้านนายเฉลียว ปรีกราน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด กล่าวว่า  เรามาอยู่ที่นี่กว่า 10 ปีแล้ว ได้เห็นความเจริญเติบโตของแม่น้ำ ซึ่งมีเรือจำนวนเยอะมากขึ้น มีการสัญจรทางเรือตลอดทั้งวัน ทั้งเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว เรือสำราญต่าง ๆ ทำให้ในแต่ละคืนคาดว่ามีคนประมาณ 5,000 - 6,000 คน ที่ต้องใช้เส้นทางนี้ ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติขึ้นได้ ภาคเอกชนจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมงานแบบนี้ อยากให้มีการฝึกซ้อมเช่นนี้ทุกปี เพื่อสร้างความปลอดภัยในแม่น้ำให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

● ถอดบทเรียนหลังฝึกซ้อม ต้องปรับสถานการณ์ให้สมจริงขึ้น เล็งซ้อมกลางคืนในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกซ้อม รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า  วันนี้เป็นการซ้อมพหุภาคี โดยสมมุติว่าเรือโดยสารชนท่าเรือ ซึ่งโจทย์ที่ตั้งมาตอนแรกนั้น เราไม่รู้ว่ามีประชาชนอยู่ในเรือเท่าไร ทำให้ในอนาคตเราอาจจะต้องมีการคุยกันถึงระบบที่จะทำให้การโดยสารทุกรูปแบบโดยเฉพาะทางน้ำสามารถรู้จำนวนผู้โดยสารได้บ้าง เพื่อทำให้การบริหารจัดการพร้อมขึ้น และลดความวุ่นวายใจให้แก่คนที่อาจจะมีญาติพี่น้องที่โดยสาร

สำหรับสถานการณ์สมมุติวันนี้ มีผู้ประสบเหตุ 68 ราย เสียชีวิต 3 ราย ไม่มีผู้สูญหาย ซึ่งเหตุดังกล่าวผู้อำนวยการเขตจะต้องเป็นคนกำกับสถานการณ์ทั้งหมด เบื้องต้นเวลามีเคสเกิดขึ้น ทางกรมเจ้าท่าจะเป็นฝ่ายรับข้อมูลก่อนเพราะเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบ และจะต้องมีการกำกับพื้นที่ เพราะเวลาเกิดเหตุจริง ๆ ยังมีเรือที่สัญจรอยู่ตามปกติ เราอาจไม่สามารถกั้นพื้นที่ได้ทันที แต่จะต้องรีบบริหารจัดการพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ จากนั้นจะต้องเร่งสื่อสารมายังสายด่วนศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) 1669 และทางสถานีตำราวจนครบาลในพื้นที่ โดยทางตำรวจจะช่วยบริหารจัดการพารามิเตอร์และการจราจร 

ด้านหน่วยแพทย์และอาสาสมัครกู้ภัย จะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งการเข้าพื้นที่ในน้ำไม่ง่าย ทั้งเรื่องของกระแสน้ำ การวางจุด การรายงานว่าพอเรือประสบเหตุแล้วคนกระจายไปอยู่ตรงไหนบ้าง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องเห็นแผนที่น้ำตรงกันหมด ไม่เช่นนั้นจะบริหารจัดการไม่ได้  ในส่วนของเรือกู้ชีพ กรุงเทพมหานครมี วชิรพยาบาลก็มี อีกทั้งยังมีเรือกู้ภัยของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักเทศกิจ ที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย

ในการซ้อมทุกครั้งจะได้บทเรียน ซึ่งบทเรียนในวันนี้จะเห็นว่าชูชีพสำคัญมาก และควรมีบนเรือทุกลำ เพราะช่วยในการลอยตัวแม้อาจจะบาดเจ็บอยู่ ปัญหาของเหตุในแม่น้ำคือกระแสน้ำจะเชี่ยวมาก โดยปกติจุดที่เกิดอุบัติเหตุจะเป็นคนละจุดกับเมื่อทีมช่วยเหลือออกไป เมื่อสักครู่จะเห็นชัดมากในเรื่องการส่งทีมลง พารามิเตอร์ที่ใช้ในการค้นหาแต่ละครั้ง สำหรับสถานการณ์วันนี้มีความรู้สึกว่าคนมาเยอะไปหน่อย โอกาสต่อไปอาจจะต้องใช้การซ้อมออกจากที่ตั้ง เพราะจะได้เวลาจริงที่หน่วยจะถึง และจะได้ทราบถึงการส่งคนออกไปช่วยเหลือจริง ซึ่งจะต้องเผื่อสำหรับกรณีเกิดเหตุบนบกที่ใดที่หนึ่งหรือพื้นที่ใกล้เคียงด้วย รวมถึงอยากให้มีการซ้อมกลางคืน ซึ่งในเวลากลางคืนจะยากกว่า เพราะจะมีเรือสำราญที่มีผู้โดยสารเยอะมากและมักจะอยู่ในกิจกรรมที่ไม่ระวังตัว เช่น ทานอาหาร สนุกสนาน หรือมึนเมาเล็กน้อย รวมถึงอาจจะมีเด็กหรือผู้สูงอายุ เพราะมาเป็นครอบครัวด้วย นอกจากนี้ หากสปอตไลต์ไม่ถึงหรือไฟไม่สว่างยิ่งจะทำให้การทำงานยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องขอหารือเรื่องการจัดการก่อน ทางกรมเจ้าท่าเองก็อาจจะบริหารจัดการลำบาก ซึ่งอาจจะต้องลองทำเล็ก ๆ เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วก่อน

อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อสักครู่เราให้เรือขนผู้บาดเจ็บเข้ามาครั้งละ 1 ลำ แต่ในสถานการณ์จริงอาจจะไม่ได้มาทีละลำ ในครั้งหน้าอาจจะต้องมีการซ้อมการบัญชาการร่วม ทั้งผู้อำนวยการเขต ทีมน้ำ อาสาสมัคร และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการจัดการบนท่าเรือให้สมจริงมากยิ่งขึ้น 

      ประโยชน์ของการซ้อมครั้งแรกในวันนี้ถือว่าได้ความรู้เยอะมาก ทำให้เราได้เห็นว่าใครมีทรัพยากรอะไร ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องดีที่การซ้อมยังไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้เห็นช่องว่างของระบบ เพราะในเวลาซ้อมต้องได้บทเรียนเพื่อปรับปรุง อาทิ จะต้องมีเรื่องของการสื่อสารเพราะบางครั้งอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ซึ่งข้อมูลก่อนขึ้นเรือนั้นสำคัญ เพราะทำให้ทราบว่ามีใครขึ้นมาอยู่บนนั้นบ้าง นอกจากนี้ วันนี้เรามีแค่เคสเขียว เหลือง แดง ดำ แต่จะมีเคสอีกประเภทหนึ่ง คือ ฟ้า โดยเขาดูเหมือนเดินได้ ดูเหมือนมีสติ แต่จริง ๆ อาจจะสำลักน้ำมาสักพักหนึ่งแล้ว อาจจะมีอากาศเข้าไป ซึ่งการสื่อสารอาการของเขาทีมกู้ภัยอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากทีมหมอ สุดท้าย ในการส่งตัวที่ดูเหมือนเป็นระบบ สถานการณ์จริงต้องจำลองความมั่วเพื่อดูว่าเราแก้อย่างไร ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ต่อไปจะทำให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด 

● กู้ภัยทางน้ำยากกว่าทางบก แนะสวมเสื้อชูชีพ หากตกน้ำให้พยายามลอยตัว ระวังถูกคลื่นม้วนเข้าใต้โป๊ะ

ด้านความยาก-ง่าย ระหว่างช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำกับทางบก ว่าที่ ร.ต.พิสุทธิ์ สุขเครือ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพบรรเทาสาธารณภัยจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวว่า  ในการกู้ภัยทางน้ำยากมากกว่าทางบกอยู่แล้ว โดยในการช่วยเหลือทางน้ำนั้น ถ้ามีคนเห็นจุดจมความง่ายจะมากขึ้น แต่ถ้าไม่เห็นจุดจม คือสิ่งอันตรายที่สุด เพราะมีเรื่องกระแสน้ำ เรื่องความลึก และหลาย ๆ อย่าง ที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน 

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเสริมว่า  นอกจากนี้ จากการซ้อมเมื่อสักครู่ มีเคสที่คนจมน้ำและต้องมีการดำน้ำหา ซึ่งด้วยสถานการณ์ ความเชี่ยวกรากของน้ำที่ไม่ใช่สระว่ายน้ำซึ่งมีน้ำนิ่ง แรงดันน้ำ ตลอดจนกำลังของเจ้าหน้าที่นั้น เจ้าหน้าที่พร้อมถังออกซิเจนจะสามารถอยู่ได้ประมาณ 25 นาที เพราะฉะนั้น เวลาเจ้าหน้าที่กวาดรัศมีจะต้องไปด้วยกันหมด เป็นความยากอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอย่างเข้าขากันด้วย

ทั้งนี้ มนุษย์เราไม่ได้ถูกฝึกมาให้ประสบเหตุในน้ำ โดยทางกรมเจ้าท่าได้แนะนำว่า คนที่ตกน้ำมักเข้าใจว่าต้องรีบเข้าหาโป๊ะ ซึ่งไม่ถูกเสมอไป ถ้าในกรณีใกล้จริง ๆ แล้วมองเห็นได้ว่าไม่มีเรือแล่นผ่าน คลื่นไม่ได้แรงมากนัก การตะเกียกตะกายรีบขึ้นอาจจะทำได้ แต่ในความเป็นจริง เวลาเรือแล่นเรือจะตีคลื่นเข้าที่โป๊ะ แล้วคลื่นก็จะม้วน ทำให้คนที่ตกน้ำอาจจะถูกม้วนเข้าไปใต้โป๊ะ ทางที่ดีที่สุดคือ หากสวมชูชีพแล้ว ควรปล่อยลอย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเห็นคุณและสามารถให้การช่วยเหลือต่อไป