Think In Truth
นักวิชาการมองเอ็มโอยู8พรรคเรื่องใหม่ เชื่อเพื่อไทยไม่กล้ารับส.ส.พปชร.
ฉะเชิงเทรา-นักวิชาการแปดริ้ว มองทำเอ็มโอยูร่วม 8 พรรคการเมืองก่อนจัดตั้งรัฐบาล เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้มีจุดเห็นต่างในบางพรรคแต่ยังเข้ามาร่วมจับมือกันได้ ขณะก้าวไกลยอมถอยในประเด็นทางสังคมที่ถือเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับการเมืองไทย ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียังพอมีเวลาหาเสียงสนับสนุนเพิ่ม เชื่อ สว.มีวุฒิภาวะที่จะไม่นำพาบ้านเมืองกลับไปสู่วิกฤต และเชื่อ เพื่อไทยไม่กล้ารับ ส.ส. พปชร.เข้าสังกัด หากแตกทัพกระจายออกมาซบตามข่าวลือ ระบุอาจเสียแฟนคลับจนกลายเป็นพรรคเล็กอย่างถาวร
วันที่ 23 พ.ค.66 เวลา 12.50 น. ผศ.นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.66) ว่าถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาลนั้นได้มีการพูดคุยกันในเรื่องของนโยบาย
เพราะปกติฝ่ายที่จะมาเป็นรัฐบาลที่ผ่านมานั้น จะคุยกันไปในเรื่องของการแบ่งเค้กหรือกระทรวงกันมากกว่า ถือเป็นโอกาสดี ที่ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล จะได้มีโอกาสร่วมกันทำงานทั้งที่ยังมีจุดที่แตกต่างกันแต่เขายังสามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่น เรื่องของสุราก้าวหน้า และสมรสเท่าเทียม ที่พรรคประชาชาตินั้นมีความเห็นต่าง รวมถึงเรื่องมาตรา 112 ที่เป็นประเด็นทางสังคมนั้นพรรคก้าวไกลก็ยังยอมถอย จึงถือเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นการพัฒนาทางการเมืองที่ดีสำหรับการเมืองไทย
ส่วนการที่จะนำข้อตกลงในเอ็มโอยูไปสู่การใช้จริงในทางปฏิบัตินั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกกฎหมายมาให้รัฐบาลนำไปบังคับใช้ เช่น เรื่องยกเลือกการเกณฑ์ทหาร หรือเรื่องสุราก้าวหน้าต้องไปแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สรรพสามิต ซึ่งเชื่อว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่ที่มีเสียงมากถึง 313 เสียงนั้น ซึ่งเพียงพอสำหรับการผ่านกฎหมายต่างๆ ออกมาได้ จึงเชื่อว่านโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้และไม่เป็นประเด็นทางสังคม จึงน่าจะขับเคลื่อนเดินต่อไปได้จริง
ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยังพอมีเวลาเหลืออีกประมาณ 2 เดือน ที่พรรคร่วมหรือพรรคก้าวไกลเองจะได้พูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจต่อทาง สว.และในส่วนตัวนั้นเชื่อว่า สว. มีวุฒิภาวะที่จะไม่ให้บ้านเมืองเกิดวิกฤต เพราะอย่างไรแล้วทั้ง 8 พรรคการเมืองก็คือเสียงข้างมากที่ผ่านการเลือกตั้งมาและรวมเสียงได้ถึงขนาดนี้
การที่จะพลิกขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น คิดว่าไม่เกิดประโยชน์อันดีกับบ้านเมืองและเชื่อว่าคงจะไปไม่รอด จึงเชื่อว่ายังพอมีเวลา ในขณะที่พรรคก้าวไกลเองนั้นก็ยังได้ยอมลดเพดานเกี่ยวกับนโยบายที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมลงมามากแล้ว และยังมี สว.บางส่วนที่ยังมีท่าทีอ่อนลงมาบ้างแล้วด้วยเช่นกัน
นักวิชาการเชื่อเพื่อไทยไม่กล้ารับส.ส. พปชร.หากแตกทัพตามข่าว
วันที่ 23 พ.ค.66 เวลา 15.00 น. ผศ.นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวลือว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทิ้งพรรคพลังประชารัฐ หลังจากแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ที่ผ่านมา จนอาจทำให้มี ส.ส.ในสังกัดเดิมของพรรคจะพากันแห่ย้ายเข้าไปสังกัดในพรรคเพื่อไทยว่า
ก่อนอื่นนั้นขอบอกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ชูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และพรรคพลังประชารัฐชู พลเอกประวิทย์ เป็นนายกฯ และเมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาลโอกาสที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปนั้นคงยาก การจะสลายไปของพรรค แล้วทำให้ ส.ส.อาจย้ายไปอยู่ในพรรคการเมืองอื่นนั้นมีสูง โดยกระแสที่เกิดขึ้นหาก ส.ส.จะพากันย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย จนเพื่อไทยกลายเป็นพรรคเสียงข้างมาก และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าฆ่าตัวตายทางการเมือง
เพราะหากเพื่อไทยทำอย่างนั้นเอง แฟนคลับเพื่อไทยจะหายไปอย่างแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า และต้องคิดให้หนักเพราะว่าการได้รับเลือกตั้งเข้ามาของกลุ่ม ส.ส.พลังประชารัฐในครั้งนี้ ยังมีลุงอยู่ 1 ลุง และต้องไม่ลืมว่าเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งต่อก้าวไกลในครั้งนี้ หากนับไปตั้งแต่ยังเป็นไทยรักไทย พลังประชาชน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เพื่อไทยนั้นเสียแชมป์ โดยประเด็นที่เสียแชมป์คือการที่ไม่ชัดเจนเรื่อง 2 ลุง ถ้าหากไปทำแบบนั้นก็เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย
จึงเชื่อว่าเพื่อไทยต้องคิดเล็กคิดน้อยให้ละเอียด ในการที่จะเอา ส.ส.กลุ่มนี้เข้ามาอยู่รวมในพรรค ว่าจะมีผลเสียมากกว่าผลที่จะได้ และหากจะพลิกเกมยอมรับ ส.ส.กลุ่มนี้เข้ามา เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลเองนั้น ในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะทำได้ โดยการไปดึงพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วม แต่ถ้าหากทำอย่างนั้นจะเป็นการผูกคอตายทางการเมือง โดยเชื่อว่าแฟนคลับจะไม่เห็นด้วย และการเลือกตั้งคราวหน้าเพื่อไทยจะถูกพิพากษาจากประชาชนเอง
สำหรับความเห็นในวันนี้ ที่เพื่อไทยได้ร่วมเซ็นเอ็มโอยูจับมือร่วมกับพรรคก้าวไกลแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมองในแง่ร้ายที่สุดที่อาจจะต้องไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน ยังเชื่อว่าแฟนคลับเพื่อไทยยังคงรักเพื่อไทยอยู่ และรักมากว่าการที่จะไปเป็นรัฐบาลแบบนั้นในครั้งนี้ แต่ในรอบหน้าเพื่อไทยอาจจะเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กลง จึงมองว่าเพื่อไทยไม่ควรทำอันนี้ถือเป็นเสียงสะท้อนส่วนตัว
ส่วนหลังจากนี้หากเกิดเดดล็อกจากการขาดเสียง สว.นั้น มองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองเลย ที่จะไม่ให้พรรคการเมืองที่รวมเสียงกันได้มากขนาดนี้เป็นรัฐบาล โดยจะต้องให้โอกาสพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ในสภาและยังมีความเข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เมื่อสมัยที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้เขาได้ทำงานมิเช่นนั้นแล้วบ้านเมืองเราก็จะเกิดความเสียหาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดหรือบังคับเอาไว้ว่าจะต้องตั้งรัฐบาลภายในกี่วัน และจะกลายเป็นรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ที่จะรักษาการณ์ต่อไปอีก ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลยอมถอยในบางประเด็น เช่น การแก้มาตรา 112 ที่เป็นกระแสสังคมนั้น แฟนคลับของก้าวไกลเองก็ต้องยอมรับว่า หากทางก้าวไกลยังคงดึงดันฝืนอยู่ต่อไป การจะไปสู่ความฝันเป็นรัฐบาลรวมถึงการจะนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติก็คงยาก วุฒิภาวะเมื่อได้มาเป็นผู้นำนั่งหัวโต๊ะ บางอย่างจะไปสุดโต่งนั้นคงไม่ได้ จึงต้องทำอะไรที่จะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ จึงเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะไม่เสียแฟนคลับจากการตัดสินใจลดเงื่อนไขลงในครั้งนี้
ยกเว้นว่าหากได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ ก็อาจจะเสียแฟนคลับได้ ในวันนี้จึงอยากจะฝากไปถึงยังสมาชิกวุฒิสภาว่า วันนี้เราได้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงอยากเห็นพรรคที่ประชาชนเลือกให้มาเป็นลำดับหนึ่ง หรือรวมเสียงได้ข้างมากและพร้อมจะจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้แล้ว ก็ขอให้ทาง สว.ได้เคารพเสียงจากประชาชน และขอให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมกันจับตามองว่าบ้านเมืองไทยนั้นบอบช้ำมามากแล้ว
เมื่อผ่านการเลือกตั้งที่พร้อมจะสลัดคราบของผลผลิตจากการรัฐประหาร และเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จะเกิดความสร้างสรรทางการเมืองได้ต่อไป ผศ.นพพร กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา