In Bangkok
นำร่อง6กลุ่มเขตเปิดระบบBMA OSS ศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ-นำร่อง 6 กลุ่มเขต เตรียมเปิดระบบ BMA OSS ศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ ลดงานเอกสารและระยะเวลาการให้บริการแก่ประชาชน
(23 พ.ค.66) แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานปรับปรุงกระบวนงานการให้บริการประชาชนของระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) สำหรับสำนักงานเขตต้นแบบ ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
ที่ประชุมแจ้งว่า ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 นั้น ได้มีการแจ้งเกี่ยวกับคณะทำงาน สำนักเขต รวมถึงสำนักที่มีส่วนในการพิจารณาปรับปรุงกระบวนงานในการให้บริการประชาชน ในส่วนสำนักงานเขต มีเพียงสำนักงานเขตพระนครเป็นตัวแทนกลุ่มเขตกรุงเทพกลางที่ถูกกำหนดให้เป็นสำนักเขตต้นแบบ ซึ่งในที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่าแต่ละพื้นที่เขตมีความแตกต่างกันในแง่ของการปฏิบัติและเงื่อนไขในการพิจารณาการให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ จึงเป็นข้อสรุปและแจ้งในที่ประชุมครั้งนี้ว่ามีการพิจารณาคัดเลือกสำนักงานเขตที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเขตเพิ่มเติม จำนวน 5 สำนักงานเขต เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการให้บริการประชาชนผ่านศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) จำนวน 5 สำนักงานเขต ได้แก่ สำนักงานเขตหลักสี่ (กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ) สำนักงานเขตปทุมวัน (กลุ่มเขตกรุงเทพใต้) สำนักงานเขตหนองจอก (กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก) สำนักงานเขตบางกอกน้อย (กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ) สำนักงานเขตภาษีเจริญ (กลุ่มเขตกรุงธนใต้)
สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลได้ดำเนินการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) แต่ละกระบวนงานตามคู่มือประชาชนเสร็จเรียบร้อย รวมทั้งทดสอบการใช้งานแต่ละระบบงานตามภารกิจของหน่วยงาน ได้แก่ ระบบงานฝ่ายปกครอง ระบบงานฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ระบบงานฝ่ายโยธา และฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำหรับระบบงานฝ่ายโยธา กระบวนงานขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (แบบ ข.1) (บ้านพักอาศัยที่มีขนาดต่ำกว่า 300 ตารางเมตร) ระบบนี้จะทำให้ประชาชนใช้งานได้ง่าย มีขั้นตอนที่สะดวกรวดเร็ว ลดความยุ่งยาก ทำให้ประชาชนกรอกข้อมูลและยื่นหลักฐานเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ในส่วนของระบบงานฝ่ายอื่นๆ จะเปิดให้ใช้งานในเวลาต่อไป
รองปลัดฯ กล่าวว่า ขณะนี้เราจำเป็นต้องปรับตัวการให้บริการประชาชนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ต้องมีความพร้อมทั้ง Hardware Software Ecosystem Networking อีกทั้งต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ที่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนด้วย