In Bangkok

กทม.จัดอบรมบพ.17มุ่งสร้างเครือข่าย ทลายไซโลระบบบริการทางการแพทย์



กรุงเทพฯ-กทม.จัดอบรม บพ.17 มุ่งสร้างเครือข่าย ทลายไซโล เพื่อระบบบริการทางการแพทย์แบบไร้รอยต่อสำหรับประชาชน

(23 พ.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการพยาบาล (ด้านการแพทย์) รุ่นที่ 17 และบรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทกรุงเทพมหานครกับระบบบริการสุขภาพ ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 สำนักการแพทย์ โดยมี คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีและรับฟังการบรรยาย

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า  กทม.มีลักษณะการทำงานแบบไซโล (Silo) มานาน คือเป็นลักษณะการทำงานแบบแยกส่วนหรือต่างคนต่างทำ จนวิธีคิดต่าง ๆ กลายเป็นไซโลไปหมด อีกทั้งยังเป็นการคิดแค่ว่าเราทำอะไร ซึ่งเราต้องปรับวิธีคิดบางอย่างด้วยการมองให้ไกลออกไปว่าประชาชนได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ รวมถึงต้องทลายไซโลและทำระบบการบริการที่ไร้รอยต่อให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้รับบริการ และเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการทำงานด้วย  นอกจากนี้ จากการสอบถามผู้เข้ารับการอบรมบางท่านว่าอยากได้อะไรจากการเข้ารับการอบรม คำตอบคืออยากได้เครือข่ายความร่วมมือ ฉะนั้น นอกจากความรู้ที่จะได้รับและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันแล้ว ขอให้ทุกท่านใช้ระยะเวลาที่อบรมร่วมกันในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงดังที่ได้ตั้งใจไว้

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ กำหนดจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการพยาบาล (ด้านการแพทย์) รุ่นที่ 17 (บพ.17) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทางการพยาบาลด้านการบริหาร ให้มีภาวะผู้นำ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความรู้ความสามารถ และเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างเจตคติ วิสัยทัศน์ มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ สามารถบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการพยาบาลที่ทันสมัยมาประยุกต์ในการพัฒนาระบบการให้บริการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้อง เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติราชการ นโยบายของส่วนราชการ และแผนของกรุงเทพมหานคร โดยฝึกอบรมระหว่างวันที่ 23 พ.ค. - 18 ส.ค. 66 รวมจำนวน 59 วัน ผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 42 คน เป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสายงานด้านการพยาบาล สังกัดสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 36 คน และบุคคลภายนอกสังกัดกรุงเทพมหานครสายงานด้านการพยาบาล 6 คน รูปแบบการฝึกอบรมเป็นแบบไป-กลับและพักค้าง รวมทั้งการศึกษาดูงานในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เป็นวิทยากรในการฝึกอบรม