In Bangkok

'จักกพันธุ์'จัดระเบียบผู้ค้าหน้ารร.วัดคู้บอน ดูคัดแยกขยะและเช็คค่าฝุ่นPM2.5



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตคลองสามวา จัดระเบียบผู้ค้าหน้าโรงเรียนวัดคู้บอน ติดตาม Hawker Center ลานโดมวัดพระยาสุเรนทร์ ชมคัดแยกขยะชุมชนหมู่บ้านทหารกองหนุน ตรวจแยกขยะเขตคลองสามวา เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX เช็กค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนคิว-วัน ส่องสวนชุมชนสุขสำราญพัฒนา และสวนซอยราษฎร์ร่วมใจ 

(24 พ.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตคลองสามวา เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 

ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณด้านหน้าโรงเรียนวัดคู้บอน เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 1 แห่ง ผู้ค้า 10 ราย คือบริเวณด้านหน้าโรงเรียนวัดคู้บอน ส่วน Hawker Center จำนวน 1 แห่ง บริเวณลานโดมวัดพระยาสุเรนทร์ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้ทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้าหลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่บ้านทหารกองหนุน ซอยพระยาสุเรนทร์ 28 พื้นที่ 48 ไร่ บ้านเรือน 331 หลังคาเรือน ประชากร 1,233 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ทำผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล นำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมของแต่ละครัวเรือน ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกน้ำมันพืชใช้แล้ว ส่งขายให้กับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล 2.ขยะอินทรีย์ มีการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกเศษใบไม้ เศษผัก ผลไม้เศษอาหารจากครัวเรือน นำมาไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ โดยการแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชน เศษอาหารนำไปเลี้ยงปลา 3.ขยะอันตราย ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับสมาชิกในการคัดแยกขยะอันตราย นำมาทิ้งในจุดรับขยะอันตรายที่จัดเตรียมไว้ โดยชุมชนได้ประสานกับฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้ามาจัดเก็บในชุมชน 4.ขยะทั่วไป ส่งเสริมให้ชาวชุมชนคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือนของตนเอง ปัจจุบันขยะมูลฝอยทั่วไปที่เหลือส่งให้เขตฯ นำไปกำจัด มีปริมาณลดลง รถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์ 5.ขยะติดเชื้อ จัดวางถังสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การคัดแยกขยะติดเชื้อและขอความร่วมมือให้คัดแยกใส่ถุงสีแดงหรือถุงเฉพาะทิ้งหน้ากากอนามัย ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่เตรียมไว้ โดยฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะติดเชื้อไปทำลาย สำหรับปริมาณขยะมูลฝอยก่อนคัดแยก 18,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10,500 กิโลกรัม/เดือน 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตคลองสามวา มีข้าราชการและลูกจ้าง 620 ราย วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ โลหะ นำไปทำผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล หรือนำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมของแต่ละฝ่าย 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายคัดแยกเศษอาหารและผลไม้ มารวมไว้ที่จุดทิ้งขยะ เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดจะรวบรวมนำขยะอินทรีย์ ไปส่งไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ เจ้าหน้าที่จะจัดการกับขยะอินทร์ โดยการแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ประโยชน์ในเขตฯ 3.ขยะอันตราย แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะอันตราย มาทิ้งในจุดรับขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะจัดเก็บนำไปกำจัด 4.ขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะมูลฝอยทั่วไป และนำมาทิ้งในจุดรับขยะของเขตฯ เพื่อนำไปกำจัดต่อไป 5.ขยะติดเชื้อ จัดวางถังสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ โดยขอความร่วมมือคัดแยกใส่ถุงสีแดงหรือถุงเฉพาะทิ้งหน้ากากอนามัย ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะมูลฝอยก่อนคัดแยก 1,300 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 109,198 แปลง สำรวจแล้ว 101,274 แปลง คงเหลือ 7,924 แปลง  สิ่งปลูกสร้าง 88,884 แห่ง สำรวจแล้ว 88,312 แห่ง คงเหลือ 572 แห่ง ห้องชุด 6,138 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 204,220 รายการ สำรวจแล้ว 195,724 รายการ คงเหลือ 8,496 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานระบบการชำระภาษี BMA-TAX พบว่าการนำเข้าข้อมูลจากระบบเดิมยังไม่ครบถ้วน การปรับปรุงข้อมูลระบบไม่สามารถปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ทันที การค้นหาข้อมูลในระบบไม่สามารถค้นหาจากชื่อ หรือคำสั้นๆ ได้ ต้องมีเลขบัตรประชาชนจึงจะดำเนินการค้นหาได้ รวมถึงได้ตรวจสอบศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมความพร้อมในการประเมินภาษี ปี 2566 โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท คิว-วันคอเปอร์เรชั่น จำกัด ถนนไมตรีจิต เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทเคาะ ปะผุ พ่นสี 28 แห่ง ประเภทเลื่อย ตัดหิน 4 แห่ง ประเภทหม้อไอน้ำ (น้ำมันเตา) 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนหรือฝุ่นผงตกค้าง และตรวจวัดควันดำรถโม่ปูนอย่างสม่ำเสมอ 

สำรวจสวน 15 นาที ชุมชนสุขสำราญพัฒนา ริมคลองลำแบน และสวน 15 นาที ซอยราษฎร์ร่วมใจ (แยกบาแล) ถนนประชาร่วมใจ เขตฯ ได้ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที รวมทั้งสิ้น 5 สวน ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการแล้ว 1 สวน คือสวนสามวาพนานุรักษ์ พื้นที่ 2 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 สวน ได้แก่ สวน 15 นาที ซอยราษฎร์ร่วมใจ (แยกบาแล) ถนนประชาร่วมใจ โดยดำเนินการปรับพื้นที่และปลูกต้นไม้บางส่วน เช่น ต้นหางนกยูง ต้นตีนเป็ดน้ำ ต้นทองอุไร ต้นอินทผาลัม ต้นไทรยอดทอง ต้นกระดุมทอง และต้นดาวกระจาย สวน 15 นาที ที่สาธารณะข้างหมู่บ้านเนเบอร์โฮม โดยปรับพื้นที่และดำเนินการปลูกต้นไม้แล้วบางส่วน เช่น ต้นทองอุไร ต้นชาฮกเกี้ยน ต้นต้อยติ่ง สวน 15 นาที ชุมชนสุขสำราญพัฒนา ริมคลองลำแบน โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนสุขสำราญพัฒนา โดยดำเนินการปรับพื้นที่ เตรียมปลูกต้นไม้เพิ่มเติม และอยู่ในแผนดำเนินการอีก 1 สวน คือสวน 15 นาที ริมคลองใกล้มัสยิดย่ามีอะห์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายพันธุ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล