In Bangkok

กทม.พร้อมทำงานทั้งเชิงรุก-รับอยากให้ คนไทยไม่เป็นโรคเบาหวาน



กรุงเทพฯ-(24 พ.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับและร่วมประชุม อยากให้คนไทย ไม่เป็นเบาหวาน ณ ห้องกิ่งเพชร ชั้น 3 โรงแรมเอเชียกรุงเทพ เขตราชเทวี

โครงการ "อยากให้คนไทย ไม่เป็นเบาหวาน"  เริ่มต้นเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทยและบริษัท เมอร์ค ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนไทยทุกคนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์  ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-Daibetes)  ซึ่งเป็นภาวะที่ถูกกล่าวถึงน้อยมาก ซึ่งภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-Diabetes) นี้ หากได้รับการตรวจหาและได้รับการดูแลที่เหมาะสม เราจะสามารถช่วยชะลอการเกิดเบาหวานในประชากรกลุ่มนี้ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมทำแบบประเมิน Diabetes Risk Score กว่า 7,500 คน และพบว่า 73% ของประชากรมีความเสี่ยงสูงถึงสูงมากต่อการเป็นโรคเบาหวาน ในปี พ.ศ. 2566 นี้  ทางโครงการ ฯ จึงได้ขยายความร่วมมือไปยังสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ในการดูแลภาวะก่อนเบาหวาน

นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยสมาคมฯ เห็นปัญหาของโรคเบาหวานในประเทศไทย ที่มีจำนวนผู้เป็นโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน แต่จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวานมาก่อน มากไปกว่านั้นเมื่อมีการสำรวจครั้งใด มีประชาชนกว่า 40% ไม่เคยได้รับการตรวจว่าตนเองมีโรคเบาหวานหรือไม่ และจากโครงการอยากให้คนไทย ไม่เป็นเบาหวาน ได้มีการให้ประชาชนทำแบบสอบถามประเมินตนเองถึงความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ 70% ของประชาชนที่ทำแบบสอบถามพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน วันนี้จะทำอย่างไรกับตัวเลข 70% ของประชาชนที่มีความเสี่ยงที่ต่อโรคเบาหวานและ 40% ที่ไม่เคยได้รับการตรวจว่าตนเองมีโรคเบาหวาน ได้รู้ตัวและได้รับการดูแล ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนไทยได้รับการดูแลและเตือนตนเอง ครอบครัว ไม่ให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น จึงเป็นบทบาทสำคัญของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะสำนักอนามัยที่จะช่วยสร้างให้เกิดขึ้นจริง และเป็นต้นแบบให้ถูกนำไปใช้ทั่วประเทศ ท้ายที่สุดหวังว่าคนไทยจะไม่เป็นเบาหวานหรือแม้จะเป็นแล้วก็ได้รับการตรวจตั้งแต่แรก หรือหากอยู่ในภาวะก่อนเบาหวานก็จะได้รับการรับรู้และดูแลเพื่อไม่ให้พัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานในอนาคต 

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า จากตัวเลข 5 ล้านที่คนเป็นโรคเบาหวานนั้น จำนวนคนส่วนมากอาจอยู่ในกรุงเทพมหานคร หนึ่งในเหตุผลอาจเกิดจากพฤติกรรมคนเมือง ซึ่งทำให้เราดูแลตัวเองไม่ดีเท่าที่ควรด้วยความเร่งรีบในการใช้ชีวิตในเมือง โรคนี้โดยส่วนใหญ่แม้ว่าทุกคนจะสามารถเป็นได้หมด แต่เราพบว่าผู้สูงอายุมีอัตราเสี่ยงต่อโรคนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งบางเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานครมี 28 % ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ นั่นหมายความว่าเป็นสังคมที่เกินไปกว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับปกติ เพราะฉะนั้นกทม. มีความเสี่ยงในเรื่องนี้สูงมาก และหากดูจากเปอร์เซ็นต์ของคนไม่เคยได้รับการตรวจว่าตนเองมีโรคเบาหวานหรือไม่ และประชาชนที่มีความเสี่ยงที่ต่อโรคเบาหวาน เป็นจำนวนที่ค่อนข้างอันตราย ฉะนั้นวันนี้สำนักอนามัยในฐานะหน่วยงานดำเนินงานในพื้นที่ให้คำมั่นว่าจะดำเนินงานในพื้นที่ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ในเชิงรุกจะค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวานในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ ซึ่งเมื่อค้นพบประชากรดังกล่าว

ทางสำนักอนามัยจะมีกระบวนการเฝ้าระวังและติดตามรักษาประชากรกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานและผลข้างเคียงจากเบาหวาน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนและผู้ป่วยมีคุณภาพที่ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขของสำนักอนามัย มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะคอยผลักดันให้โครงการนี้จะประสบความสำเร็จไปด้วยดี ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำเรื่องการทำให้คนสุขภาพดีโดยให้ความสำคัญกับระดับปฐมภูมิ

ฉะนั้น กทม. เราเร่งนโยบายเรื่องการคัดกรองสูงมาก การทำให้การคัดกรองใกล้ตัว ง่าย และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลงสำหรับประชาชน จะเป็นตัวช่วยทำให้เราสามารถระบุและป้องกันได้ พร้อมกับการยกมาตรฐานการทำการรักษาทั้งในปฐมภูมิ ตลอดจนขยายมาตรฐานโรงพยาบาลในการดูแลเรื่องนี้และเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการทำวิจัย และหวังว่าจากนี้ไปความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นรูปธรรมในเร็ววัน