In Thailand
เบรคออกใบอนุญาตสร้างฟาร์มเลี้ยงหมูขี้เหม็นกระทบชาวบ้าน
กาฬสินธุ์-นายก อบต.สหัสขันธ์ สั่งเบรคออกใบอนุญาตสร้างฟาร์มเลี้ยงหมูขี้เหม็นกระทบชาวบ้าน
นายก อบต.สหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลั่นในช่วงแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นขี้หมูจากฟาร์มเอกชน ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้าน ระงับการออกใบอนุญาตสร้างและขยายฟาร์มเลี้ยงไก่และเลี้ยงหมูในพื้นที่อย่างเด็ดขาด ขณะที่ผู้กำกับการ สภ.สหัสขันธ์ระบุ กรณีชาวบ้านผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว จึงไม่ต้องเรียกใครมาสอบปากคำ
จากกรณีชาวบ้าน 2 ใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนสาหัส จากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข มีการล่ารายชื่อ และร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ล่าสุดทางนายอำเภอสหัสขันธ์ ได้เรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกัน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในหมู่บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงถูกปกคลุมด้วยกลิ่นเหม็นของขี้หมูเป็นระยะ ตามจังหวะที่กระแสลมพัดพามา ขณะที่นายธวัชชัย บุญทานันท์ นายก อบต.สหัสขันธ์ พร้อมผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ อบต.สหัสขันธ์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นของขี้หมูในฟาร์ม และให้กำลังใจเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง
นายนิติชัย ประเสริฐสุข นักวิชาการส่งเสริม ตัวแทนบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำการส่งเสริมเลี้ยงหมู กล่าวว่า รูปแบบของฟาร์มนั้น เป็นแบบมาตรฐานที่บริษัทนำมาใช้ เกษตรกรหาผู้รับเหมาเอง ส่วนกลิ่นเหม็นของขี้หมู เกิดจากการบริหารจัดการบ่อบำบัดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเป็นบ่อดินที่เกษตรกรทำเอง จึงเป็นบ่อกำจัดของเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน เกิดการพังทลาย ทำให้พื้นที่กักเก็บของเสียลดน้อยลง หลังเกิดปัญหาพยายามจะดำเนินการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นมีทั้งใช้สารอีเอ็มสำหรับดับกลิ่น และทำม่านน้ำเพื่อดูดซับกลิ่น ไม่ให้กระจายออกไปสู่ชุมชน
นายนิติชัยกล่าวอีกว่า เนื่องจากหมูที่เลี้ยงในแต่ฟาร์มมีจำนวนนับพันตัว และกำลังตัวโตขึ้น การให้อาหารก็เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดมูลหมูในปริมาณมากขึ้นด้วย ในขณะที่ระบบการกำจัดของเสียยังไม่สมบูรณ์ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะได้เร่งแก้ไข โดยในระยะระยาวคือจะมีการติดตั้งระบบถุงแก๊ส ซึ่งจะเป็นการทยอยทำ เพราะต้องรอจำหน่ายหมูออกจากฟาร์มก่อน ซึ่งในการจัดทำระบบกำจัดของเสียที่ได้มาตรฐาน น่าจะใช้วงเงินประมาณ 480,000 บาท โดยเกษตรกรต้องยื่นขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. เป็นการขยายวงเงินกู้เพิ่ม จากเดิมรายละประมาณ 6,000,000 บาท กำหนดเวลาไว้ 2 เดือนการแก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จ จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับ ธ.ก.ส.อนุมัติสั่งจ่าย
ด้านนายธวัชชัย บุญทานันท์ นายก อบต.สหัสขันธ์ กล่าวว่าหลักเกณฑ์การขออนุญาตสร้างฟาร์มเลี้ยงหมู เป็นไปตามข้อบัญญัติของอบต.สหัสขันธ์และสาธารณสุข ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2564 ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นนายก อบต.สหัสขันธ์ จากปัญหาที่เกิดขึ้น และนำมาสู่การประชุมทุกภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว จนเป็นที่เข้าใจกันและชาวบ้านผู้ร้องเรียนพอใจ ให้โอกาสปรับปรุงระบบกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู ทั้งนี้ นายอำเภอสหัสขันธ์ ยังได้กำชับให้ตนติดตามผลการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และที่สำคัญอีกประการคือ กำชับในเรื่องงดออกใบอนุญาตขยายโรงเรือน หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งตามแผนที่ของโยธาธิการและผังเมือง ตำบลเราเป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตรกรรม
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ ต.สหัสขันธ์ ได้ออกใบอนุญาตสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ 20 ฟาร์ม ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และกำลังขออนุญาตขยายเพิ่มอีกอีก 2 ฟาร์ม ขณะที่การขออนุญาตสร้างฟาร์มเลี้ยงหมู ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ จำนวน 8 ราย พบว่าได้รับใบอนุญาตรับรองมาตรฐานเพียง 5 ราย กำลังขออนุญาต 1 ราย และยังไม่ยื่นเรื่องเข้ามา 2 ราย อย่างไรก็ตาม สำหรับฟาร์มเลี้ยงหมู เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้ลงทุนไปมาก มติที่ประชุมจึงให้โอกาสแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานในฟาร์ม โดยมีกรอบเวลากำหนด 2 เดือน ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงไก่อีก 2 ราย ที่กำลังขออนุญาตคงต้องระงับไว้ก่อน และในช่วงนี้ รวมถึงในอนาคต ในพื้นที่ อบต.สหัสขันธ์จะไม่มีการออกใบอนุญาตสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่และฟาร์มเลี้ยงหมูอีก เนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียว จะเป็นการทำลายภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยว และอาจจะเกิดปัญหาซ้ำอีก
ขณะที่ พ.ต.อ.แมน ศิริฉาย ผกก.สภ.สหัสขันธ์ กล่าวว่า กรณีชาวบ้านเข้าแจ้งความร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ได้พิจารณาคำร้องแล้วได้ลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และเมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายตัวแทนเข้าร่วมประชุมผลกระทบจากฟาร์มเลี้ยงหมูกับทุกฝ่าย ที่ห้องประชุมอำเภอสหัสขันธ์ หลังการประชุมทราบว่าชาวบ้านผู้ร้องเรียน ได้รับความพอใจ โดยให้โอกาสทางผู้ประกอบการเลี้ยงหมูแก้ไขปรับปรุง ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นการเข้าใจกันดีของทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ได้เรียกใครมาสอบปากคำ