In Bangkok
กทม.ขึงขัง!!ตั้งจุดจับจยย.วิ่งบนทางเท้า ตบมือ'เทศกิจ-เขตจตุจักร-เขตบางกะปิ'
กรุงเทพฯ-สำนักเทศกิจ เขตจตุจักรและเขตบางกะปิ กทม.เพิ่งฟิต ออกกวดขันตั้งจุดจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าถนนลาดพร้าว ขณะที่เขตอื่นๆ ยังไม่ขยับ จยย.ท้้งวิ่งทั้งจอดบนทางเท้าแทนถนนจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์ตั้งแต่ช่วงเปิดภาคเรียนมีรถจักรยานยนต์จำนวนมากขึ้นมาขับขี่บนทางเท้าถนนลาดพร้าวตลอดเส้นทางว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดจับ - ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดที่ประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยให้พิจารณาดำเนินการในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือในช่วงเวลาที่มีการร้องเรียน ซึ่งเมื่อตั้งจุดจับ - ปรับ ผู้ฝ่าฝืนจะเกิดความเกรงกลัวไม่ขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า แต่เมื่อใดที่ไม่พบเห็นเจ้าหน้าที่ก็จะขึ้นมาขับขี่บนทางเท้า ดังนั้น จึงได้กำชับให้ทุกสำนักงานเขตกวดขันอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่มีพื้นที่รับผิดชอบบริเวณถนนลาดพร้าว ได้แก่ สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานเขตวังทองหลาง และสำนักงานเขตบางกะปิ ขณะเดียวกันได้ดำเนินการตามโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้า โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันไม่ให้ฝ่าฝืนขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้าตามถนนต่าง ๆ โดยระหว่างเดือน ก.ค.61 - 23 พ.ค.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดจอด หรือขับขี่แล้ว 47,984 ราย ปรับเป็นเงิน 52,426,000 บาท
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินการตามโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม.กับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อจัดระเบียบเมือง รณรงค์ไม่จอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์บนทางเท้า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบและดำเนินการกับผู้กระทำผิด ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ www.bangkok.go.th/reward เพจเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ หรือแจ้งโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ทุกสำนักงานเขต หากข้อมูลที่แจ้งนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่ง จากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีจากการแจ้งเบาะแสเพื่อรับส่วนแบ่งค่าปรับแล้ว 4,639 คดี ผู้แจ้งเบาะแสได้รับส่วนแบ่งค่าปรับไปแล้ว 2,417,000 บาท
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจติดป้ายห้ามจอดและขับขี่บนทางเท้าบริเวณถนนลาดพร้าวทั้งสองฝั่ง และติดตั้งอุปกรณ์เสาเอสการ์ดป้องกันรถจักรยานยนต์จอดและขับขี่บนทางเท้า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้วีลแชร์ รวมทั้งกวดขันจักรยานยนต์จอดและขับขี่บนทางเท้า พร้อมเปรียบเทียบปรับอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ดำเนินการตามโครงการแจ้งเบาะแส รางวัลนำจับ 4.0 กรณีชี้จับจักรยานยนต์จอดและขับขี่บนทางเท้า โดยมีหนังสือเชิญผู้กระทำผิดมาเปรียบเทียบปรับและส่งมอบรางวัลให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส ประจำปี 2566 ระหว่างเดือน ต.ค. - พ.ค. 66 มีผู้แจ้งเบาะแส 56 ราย ชำระค่าปรับ 10 ราย รวมเป็นเงิน 6,000 บาท โดยได้ประสานผู้แจ้งเบาะแส เพื่อรับรางวัลนำจับเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ ร่วมกวดขันวินัยจราจรอย่างต่อเนื่องต่อไป
นายไพรัตน์ เกษตรสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา กวดขัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้าในพื้นที่ และมีผลการจับกุมดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ประสาน สน.ลาดพร้าว เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณถนนลาดพร้าว ตลอดจนกวดขันวินัยจราจรแก่ผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในพื้นที่เขต โดยมีจุดที่พบการฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าคือ ช่วงระหว่างซอยลาดพร้าว 130 - 134 ความยาวประมาณ 80 เมตร ได้กวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนแล้ว 4 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 7,000 บาท ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการกวดขันรถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าในพื้นที่เขต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 23 พ.ค.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนแล้ว 498 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 26 ราย และเปรียบเทียบปรับ 472 ราย รวมเป็นเงิน 425,400 บาท
อนึ่ง จากการร้องเรียน มีหลายพื้นที่ในเขตต่างๆ ยังปล่อยปะละเลยในเรื่องนี้ ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนและทางเท้าเห็นจนชินตา กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อาทิ ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน ถนนเทพรักษ์เขตบางเขนและสายไหม ถนนเลียบทางด่วน เป็นต้น โดยเฉพาะถนนเทพรักษ์ เคยมีปัญหาจยย.ไดเดอร์ชนผู้เดินทางเท้าจนเป็นคดี ซึ่งทำให้สำนักงานเขตสายไหมเพิ่มเข้มงวดอยู่ระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับมาใช้ทางเท้าขับขี่แทนถนนเช่นเดิม ไม่ควรรอให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนก่อนแล้วค่อยออกมาแก้ไข