In Bangkok
เตรียมรองรับ'สังคมผู้สูงอายุกรุงเทพฯ' กทม.จ่อเปิด'บ้านพักผู้สูงอายุบึงสะแกงาม'
กรุงเทพฯ-(25 พ.ค.66) เวลา 09.30 น. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงาม ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการคลัง สำนักพัฒนาสังคม สำนักงบประมาณ สำนักการโยธา สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงาน ก.ก. สำนักงานกฎหมายและคดี ฯลฯ ร่วมประชุม ณ ห้องเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
การประชุมในวันนี้ได้มีการรายงานความคืบหน้าบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงาม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ซอยประชาร่วมใจ 47 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา แบ่งระยะสัญญาการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ระยะเวลาก่อสร้าง 200 วัน เริ่มสัญญา วันที่ 24 ส.ค.64 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 11 มี.ค.65 ใช้พื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ดินประมาณ 5 ไร่ รองรับผู้สูงอายุ 64 ราย รายละเอียดการก่อสร้างประกอบด้วย 1.บ้านพักจำนวน 8 หลัง 2. อาคารศูนย์อาหาร 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง 3. งานภูมิทัศน์ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการก่อสร้างบ้านพัก จำนวน 8 หลัง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 เม.ย.65 และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับไว้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 ต่อมาหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร (นางสาววนิดา เจียงไพศาลกุล) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักพัฒนาสังคมได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงามเมื่อวันที่ 16 มี.ค.66 พบว่า สำนักการโยธายังไม่มีการปรับพื้นที่และไม่มีการล้อมรั้วรอบอาคารบ้านพักผู้สูงอายุและอาคารศูนย์อาหาร มีแต่รั้วกันฝุ่นเท่านั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักการโยธาประสานกับกรมที่ดินในการดำเนินการก่อสร้างรั้วฯ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับที่ดินของประชาชนพื้นที่ติดกันและให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งก่อสร้างที่อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ
ระยะที่ 2 เริ่มต้นสัญญาวันที่ 23 ก.ย.65 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 19 ก.ค.66 ระยะเวลาก่อสร้าง 300 วัน ใช้พื้นที่ก่อสร้างเป็นที่ดินประมาณ 20 ไร่ รองรับผู้สูงอายุ 56 ราย รายละเอียดการก่อสร้างประกอบด้วย 1. อาคารบ้านพักแถว 1 ชั้น จำนวน 4 หลัง 2. อาคารกิจกรรม 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง 3. อาคารหอพักผู้ดูแล 1 ชั้น จำนวน 2 หลัง 4. อาคารหอพักเจ้าหน้าที่ 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง 5. อาคารอำนวยการ 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง 6. อาคารบริการผู้สูงอายุ 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง 7. งานครุภัณฑ์ งานภูมิทัศน์ งานผังบริเวณ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่น ๆ ปัจจุบันสำนักการโยธาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคงเหลือที่ดิน 7-1-16 ไร่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน ธ.ค.66 ซึ่งที่ประชุมได้เพิ่มเติมเรื่องการพิจารณาสร้างอาคารในรูปแบบประหยัดพลังงานและส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่อาคารและบริเวณโดยรอบอีกด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้วางแนวทางการบริหารจัดการบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงาม ให้มีความถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารจัดการบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงาม ให้มีความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการพิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สูงอายุโดยพิจารณาผู้สูงอายุที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ การพิจารณาการทางเลือกในการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในการบริหารจัดการตามวัตถุประสงค์และถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของทางราชการและตรงตามวัตถุประสงค์ อาทิ การบริหารฯ ด้วยการจัดตั้งมูลนิธิ การทำหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน(MOU) การให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้บริหารจัดการ โดยให้นำข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดนำมาประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไป
ทั้งนี้ “โครงการก่อสร้างบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงาม” กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้ดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยกลายเป็น "สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์" ภายในปี 2565 บนที่ดินที่ได้รับบริจาค เนื้อที่รวม 32-1-16 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณบึงสะแกงาม ซอยบึงนายพล แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา เมื่อแล้วเสร็จจะมอบให้สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการต่อ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ให้การอุปการะเลี้ยงดูและสนับสนุนด้านปัจจัย 4 แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบพักอาศัยถาวรตลอด 24 ชั่วโมง มีบริการด้านการดูแลและพื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงการจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ ซึ่งมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มีประสบการณ์ในด้านการบริการทางการแพทย์และพยาบาลแก่ผู้ป่วย รวมไปถึงประสบการณ์ในการจัดการศึกษาและฝึกอบรมที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ รวมทั้งหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุอีกหลายสาขา นอกจากนี้ยังมีการบริการวิชาการแก่สังคม และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชุมชนที่ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ และมีโรงพยาบาลวชิรพยาบาลที่จะเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุอย่างครบวงจรต่อไป