In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่คลองเตยกระตุ้นงาน คัดแยกขยะ/สวน15นาที/จัดระเบียบชุมชน



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตคลองเตย ตรวจแยกขยะ เตรียมระบบ BMA-TAX เปิดจุด Hawker Center ศูนย์อาหารถนอมมิตร ชมคัดแยกขยะชุมชนวัดคลองเตยใน 2 ปรับปรุงสวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า จัดระเบียบผู้ค้าซอยไผ่สิงโต เช็กค่าฝุ่น PM2.5 โครงการ Life พระราม 4-อโศก 

(25 พ.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตคลองเตย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตคลองเตย–ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “ขยะแลกไข่” สามารถลดปริมาณขยะได้ 150 กิโลกรัม/เดือน จัดกิจกรรม “ไม่เทรวม ไม่เทรวม” สามารถคัดแยกขยะเศษอาหารได้ 120 กิโลกรัม/เดือน จัดตั้งจุดรวมรวมขยะอันตราย สามารถจัดเก็บขยะอันตรายนำส่งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช (เดือนต.ค.65 ถึงเดือนมี.ค.66) ได้จำนวน 4,840 กิโลกรัม รวมถึงจัดตั้งจุดประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะแต่ละประเภท 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 15,320 แปลง สำรวจแล้ว 14,370 แปลง คงเหลือ 950 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 39,465 แห่ง สำรวจแล้ว 33,874 แห่ง คงเหลือ 5,591 แห่ง ห้องชุด 37,159 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 91,944 รายการ สำรวจแล้ว 85,403 รายการ คงเหลือ 6,541 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานระบบการชำระภาษี BMA-TAX การบันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

ติดตามความก้าวหน้า Hawker Center ศูนย์อาหารถนอมมิตร ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชน ขนาดแผงค้า 2x4 เมตร รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย เวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งผู้ค้าที่เข้ามาทำการค้าในจุดนี้ เดิมเป็นผู้ค้าบริเวณหน้าม.กรุงเทพ เมื่อมีการจัดระเบียบทางเท้าและจัดทำ Hawker Center ขึ้นมา ผู้ค้าจึงได้ย้ายเข้ามาขายในศูนย์อาหารแห่งนี้ โดยมีการจัดการด้านสุขอนามัยอย่างเป็นระบบ และเป็นศูนย์อาหารราคาถูก โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 35 บาท นอกจากนี้ เขตฯ ยังมีโครงการปรับปรุงพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยแสนสุข ถนนพระราม 4 เป็น Hawker center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะตามแหล่งกำเนิด ชุมชนวัดคลองเตยใน 2 พื้นที่ 7 ไร่ ประชากร 973 คน บ้านเรือน 653 หลังคาเรือน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะที่ไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ นำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะของชุมชน เขตฯ จัดเก็บวันเว้นวัน และนำส่งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกออกจากขยะทั่วไป เพื่อนำไปขายเป็นรายได้ของครัวเรือน 3.ขยะอินทรีย์ จัดกิจกรรมทำน้ำหมักชีวภาพ (ขยะหอม) เพื่อนำไปเทปรับปรุงคุณภาพน้ำ ใช้แทนปุ๋ย ล้างห้องน้ำ ล้างพื้น 4.ขยะอันตราย รณรงค์ให้ชุมชนคัดแยกได้อย่างถูกต้อง ตั้งจุดรวบรวมขยะอันตรายที่สามารถจัดเก็บได้อย่างปลอดภัย เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากที่ตั้งชุมชนวัดคลองเตยใน 2 รถเก็บขนมูลฝอยไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงได้ดำเนินโครงการอาสาสมัครชักลากมูลฝอยในชุมชน ซึ่งอาสาสมัครฯ ดำเนินการชักลากขยะทุกวัน และรถเก็บขนมูลฝอยดำเนินการจัดเก็บตามระบบวันเว้นวัน สำหรับปริมาณขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 350 กิโลกรัม/วัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ 150 กิโลกรัม/วัน 

ปรับปรุงสวน 15 นาที สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 8 ไร่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยอนุมัติให้ต่อสัญญาให้ใช้พื้นที่ (อยู่ระหว่างผู้แทน กทม. ลงนามในสัญญา) เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงรั้วรอบสวน ทางเดิน ห้องน้ำ หอนาฬิกา ไฟฟ้าส่องสว่าง 2.สวนป๋าเปรม พื้นที่ 50 ตารางวา เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงทาสีรั้ว และปลูกต้นไม้เพิ่มความร่มรื่น 3.สวนอาจณรงค์ภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ เขตฯ ดำเนินการบำรุงรักษาต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับสวนสาธารณะที่เขตฯ จะจัดทำขึ้นใหม่ จำนวน 1 แห่ง คือสวนไทรเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ 13 ไร่ ที่ผ่านมาเขตฯ ดำเนินการจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักผังเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม และผู้สนับสนุนภาคเอกชน (บริษัท อิชิตัน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากการทางพิเศษฯ 

ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยไผ่สิงโต เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 47 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย เวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย เวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 3.ซอยไผ่สิงโต ผู้ค้า 6 ราย เวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 4.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ผู้ค้า 11 ราย เวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 5.ปากซอยแสนสุข ผู้ค้า 14 ราย เวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 193 ราย ดังนี้ 1.ปากซอยดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย เวลาทำการค้า 05.00-14.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย เวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าทางเข้าโลตัส พระราม 4 ผู้ค้า 5 ราย เวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 4.แยกกล้วยน้ำไท ผู้ค้า 11 ราย เวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 5.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย เวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 6.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย เวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 7.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย เวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 8.ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ผู้ค้า 92 ราย เวลาทำการค้า 03.00-24.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า พิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Life พระราม 4-อโศก ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่ตรวจสอบ 2 ครั้ง/แห่ง/เดือน ได้แก่ สถานที่ก่อสร้างที่สำนักการโยธารับผิดชอบ 9 แห่ง สถานที่ก่อสร้างที่เขตฯ รับผิดชอบ 6 แห่ง แพลนท์ปูน 2 แห่ง สถานประกอบการอื่นๆ 15 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา ล้างทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล